TDRI ห่วงหาเสียง ชูประชานิยม ทำประชาชนเสพติด "ระบบสงเคราะห์"

19 เม.ย. 2566 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 10:17 น.

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ห่วงพรรคการเมือง นโยบายหาเสียง ชูประชานิยม ทำประชาชนเสพติด "ระบบสงเคราะห์" ลดศรัทธาต่อระบบเลือกตั้ง

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาด้านสวัสดิการของคนไทย และจุดประกายความคิดอย่างน่าสนใจ ไว้ในบทความ "16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย: สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด" โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หัวข้อ "สวัสดิการคนไทย: แค่ไหนใช่ แค่ไหนพอ"

ดร.สมชัย สะท้อนถึงสภาพของสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุว่า มีภาวะ“แก่ก่อนรวย” และ “แก่ก่อนเก่ง” หมายถึงคนใกล้สูงวัยมีการศึกษาค่อนข้างน้อย จึงทำให้คนไทยจำนวนมากไม่สามารถดูแลตัวเอง และใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การคิดนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง เพื่อจัดสวัสดิการ หรือ ทางวิชาการเรียกว่านโยบายความคุ้มครองทางสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือที่เรียกว่า "นโยบายประชานิยม"

นโยบายด้านสวัสดิการ ของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างกว้างขวาง และแข่งขันกันสูง ในลักษณะ “เกทับ” กัน จนเป็นข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้จริง และภาระการเงินการคลังในอนาคต อีกด้านหนึ่งนำมาสู่ความศรัทธาน้อยลงต่อระบบการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีข้อเสนอแบบประชานิยม ชูสวัสดิการในลักษณะเป็นชิ้น ๆ และกระจัดกระจาย กลุ่มเป้าหมายมีความหยาบ และไม่สอดคล้องกับหลักคิดระบบสวัสดิการที่เหมาะกับสังคมไทย ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ 

หลักคิดที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง กับระบบสวัสดิการที่เหมาะกับสังคมไทยนั้น ต้องเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้อย่างมีศักยภาพ ย่อมสามารถแก้ปัญหา ด้านความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย กับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือกระทั่งยกระดับคุณภาพของระบบการเมือง ดร.สมชัย ระบุหลักคิดที่ต้องคำนึงถึงเอาไว้ 6 หลักด้วยกัน ได้แก่

1. หลักคิด “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” 

ระบบสวัสดิการต้องเป็นการ“เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่เพียงการรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งระบบนี้ประชาชนร่วมจ่ายด้วยตามกำลังความสามารถ

ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทัศนคติสังคมเรื่องระบบความคุ้มครองทางสังคมจากแนวคิด “สงเคราะห์” มาเป็น “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” และเลี้ยงตัวเอง

2. หลักคิด “พอเพียง เลี้ยงตัวได้” 

สวัสดิการที่ให้ควรพอดี ไม่น้อยไปจนไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตผู้รับ แต่ไม่มากไปจนเสพติดและไม่คิดจะยืนบนลำแข้งตัวเอง การได้รับความช่วยเหลือต้องไม่บั่นทอนแรงจูงใจในการทำงาน แต่ควรนำไปสู่การเพิ่มทักษะในโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือผ่านกลไกรัฐ

3. หลักคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” 

ประเทศไทยกำลังจะมีประชากรน้อยลง และคนไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ การพัฒนาคนไทยทุกคนอย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ตกหล่นแม้คนเดียวจะช่วยพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ดีที่สุด จึงต้องแก้ปัญหาการตกหล่นของคนจน และกลุ่มเปราะบางตัวจริงที่ไม่ได้รับสวัสดิการ

4. หลักคิด “หุ้นส่วนสวัสดิการ” 

ภาคส่วนอื่นนอกเหนือภาครัฐควรมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการออกเงิน การบริหาร หรือการตรวจสอบ

5. หลักคิด “ความยั่งยืนทางการเงินการคลัง” 

การให้สวัสดิการไม่ควรมากเกินความต้องการผู้รับตามหลักพอเพียง  และมีแนวทางในการหาแหล่งรายได้ เช่นการปรับเพิ่มภาษี ในลักษณะที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปในตัวด้วย

6. หลักคิด “ประสิทธิภาพและประสิทธิผล” 

มีการปรับปรุงคุณภาพฐานข้อมูลคนจน การเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับสวัสดิการระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหา “คนจนตกหล่น” ไปพร้อม ๆ กัน

ทั้งนี้ ควรมีระบบการส่งผ่านความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ไปสู่นักการเมืองอย่างเหมาะสม โดยคำนึงว่าหากช่วยคนกลุ่มนึง กลุ่มอื่นก็อาจได้รับสวัสดิการน้อยลง เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนการเงินการคลังประกอบด้วย