เลือกตั้ง 2566 เนชั่นวิเคราะห์ ผลเลือกตั้งภาคตะวันออก พรรคไหนได้มากสุด

21 เม.ย. 2566 | 10:30 น.

เลือกตั้ง 66 เนชั่นวิเคราะห์ยกแรก สนามกลางเมือภาคตะวันออก แข่งขันกันดุเดือดเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. จำนวน 29 คน พรรคการเมืองไหนคว้าเก้าอี้เขตไหนมากที่สุดอ่านที่นี่มีคำตอบ

เลือกต้ง 66 นับถอยหลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือ แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)  โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันลงคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด “เนชั่นวิเคราะห์” สนามเลือกตั้งภาคตะวันออก มีจำนวน ส.ส. 29 คน โดย ภาคตะวันออก  แต่ละพรรคส่งผู้สมัครช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส. ดังนี้

“เนชั่นวิเคราะห์” สนามเลือกตั้งภาคตะวันออก

จันทบุรี มีจำนวน 3  เขต

สำหรับศึกชิงเก้าอี้ว่าที่ ส.ส. จันทบุรีทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง มีแนวโน้มแข่งขันกันดุเดือด เนื่องจากแต่ละพรรค ต่างแย่งชิงผู้สมัคร ส.ส.เขต กันอย่างหนักหน่วง รวมถึงอดีตผู้สมัครที่เคยอกหักมาก่อนหน้านี้ มาวางตัวใหม่ แถมยังมีศึกภายในพรรคแย่งชิงส่งตัวผู้สมัครเข้าสังกัดพรรคดัง อย่างเพื่อไทย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ จังหวัดจันทบุรีเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 เหมือนกระดาษเปล่าที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีเพียงเขตเลือกตั้งที่ 3 เท่านั้นที่ ญาณธิชา  บัวเผื่อน จากพรรคก้าวไกล ยึดครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่น 

 

เขตเลือกตั้งที่ 1

การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่โดย พันตำรวจโท ธนภัทร กิตติวงศา ชนะการเลือกตั้ง โดยเอาชนะ นายธวัชชัย อนามพงษ์ เจ้าของพื้นที่จากพรรคพลังประชารัฐไปแบบพลิกล็อก เพียงหนึ่งพันคะแนนเท่านั้น

การเลือกตั้งปีนี้ ผู้สมัครสลับย้ายพรรคกันพอสมควร อย่าง พันตำรวจโทธนภัทร ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ นายธวัชชัย ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย นายเฉลิมพล  ศักดิ์คำ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง อกหักที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากพรรคเพื่อไทย  จึงย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐแทน ส่วนพรรคเพื่อไทยส่ง นายมงคล  ศรีกำแหง ที่ย้ายมาจากพรรคภูมิใจไทย ลงสมัคร มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่ส่งคนรุ่นใหม่ และ เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ทันตแพทย์อิทธิพล  จังสิริมงคล หรือหมอตี๋ ลงมาสู้กับรุ่นใหญ่ทั้งหลาย เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่ส่งผู้สมัครหน้าใหม่ นายวรายุทธ ทองสุข ลงสมัครแทนพันตำรวจโทธนภัทร 

ว่ากันว่าเขตนี้  นายเฉลิมพล ศักดิ์คำ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองท่าช้าง ได้รับการประเมินว่า มีฐานคะแนนเสียงหนาแน่นในพื้นที่ และ ยังเป็นมีฐานคะแนนของกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ ซึ่งเห็นใจ นายเฉลิมพล ที่ถูกพรรคปฏิเสธในรอบนี้ น่าจะร่วมกันเทคะแนนให้เต็มที่

เขตนี้ช่วงต้นเกม นายเฉลิมพล มีโอกาสโกยคะแนนนำมาก่อน แต่ที่ประมาทไม่ได้ และไม่มีใครเห็นฐานคะแนนจัดตั้งที่ชัดเจน คือ พรรคก้าวไกล เพราะชัยชนะครั้งที่ผ่านมาก็น่าจับตามองว่า คะแนนมาจากไหนถึงสองหมื่นหกพันคะแนน

เขตเลือกตั้งที่ 2

การเลือกตั้งปี 2562 ก็เป็นพรรคอนาคตใหม่ หรือก้าวไกลในปัจจุบันเช่นกันที่เป็นแชมป์เก่า โดยนายจารึก  ศรีอ่อน ชนะ นายยุคล  วัฒน์ปัญญา จากพรรคพลังประชารัฐไปเพียง  984 คะแนนเท่านั้น

 

การเลือกตั้งในปีนี้ นายจารึก ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติเช่นเดียวกัน ส่วนคู่ปรับเก่าที่แพ้นายจารึกเพียง 984 คะแนน นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ย้ายไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคก้าวไกลแชมป์เก่า ส่ง นางสาวปรัชญาวรรณ ไชยสับ ผู้สมัครหน้าใหม่ลงป้องกันแชมป์

เขตนี้ เมื่อนายยุคล อดีตส.ส.หลายสมัย ย้ายกลับจากพรรคพลังประชารัฐมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายยุคล มีคะแนนไล่จี้นายจารึกอีกครั้ง เพราะเป็นการประสานกันระหว่างคะแนนพรรคกับคะแนนส่วนตัวในพื้นที่ ส่วนนายจารึก เลือกตั้งรอบที่แล้วต้องยอมรับว่า ชนะมาจากฐานคะแนนของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ชนะเพราะฐานคะแนนส่วนตัว แต่รอบนี้กระแส พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ที่ยังมาแรง ทำให้คอการเมืองในพื้นที่ยังให้นายจารึกมีคะแนนนำนายยุคล แต่ไม่ห่างมากนัก

เขตเลือกตั้งที่ 2 การประเมินรอบแรกให้นายจารึกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ นำมาแบบไม่ห่างมากนัก โดยมี นายยุคล ไล่จี้ทำคะแนนตามมากติดๆ  แต่ทั้งนี้ทั้งคู่ต้องห้ามลืมเหลียวไปมองพรรคก้าวไกลเด็ดขาด เพราะคะแนนพรรคนี้จะปรากฏให้เห็นในวันลงคะแนนเท่านั้น

 

เขตเลือกตั้งที่ 3

เป็นเขตที่นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อนจากพรรคอนาคตใหม่ ชนะ นายแสนคม  อนามพงษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ขาดกว่า 5 พันคะแนน

การเลือกตั้งครั้งนี้ นางสาวญาณธิชา ยังคงลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล แต่นายแสนคม ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และคนอื่นประกอบด้วย นางวิสสุตา เวชชาชีวะ ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย  นายชรัตน์ เนรัญชร ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ , เรือตรี เสกสรรค์ ทองศรี, ผู้สมัครพรรคเสรีรวมไทย , นายประพันธ์ จึงสกุลวัฒนา ผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ , นางสาว เสาวลักษณ์ ตันฉาย ผู้สมัครพรรคไทยภักดี และ นายเชิดสกุล พลารักษ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์

ในเขตนี้ พรรคก้าวไกล ได้กระแสในพื้นที่ ซึ่งมีคนยอมรับ และมีผลงานที่น่าจะแซงทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ ที่จะทำให้ นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน มาแรงแซงทุกโค้ง 

เขตนี้ นางสาวญาณธิชา จากพรรคก้าวไกลยังนำห่าง

 

ฉะเชิงเทรา มี 4 เขตเลือกตั้ง

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1  ประกอบด้วย นายเชิดชัย ปัณฑุเจษฎา พรรคเสรีรวมไทย  , นางฐิติมา ฉายแสง พรรคเพื่อไทย , นายรัฐสภา นพเกตุ พรรคพลังประชารัฐ , นายประโยชน์ โสรัจจกิจ พรรคประชาธิปัตย์ , นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.เขต 1 เมื่อสมัยที่ผ่านมา  , นายธนะชัย แสวงศิริผล พรรคก้าวไกล นายมติชน ชูทับทิม พรรครวมไทยสร้างชาติ , นายเถลิง จูจำรัส จากพรรคชาติไทยพัฒนา  และ นายสมศักดิ์ วงศ์จินดา พรรคไทยศรีวิไลย์ 

สำหรับเขต 1 สนามถิ่นเดิมของ “ฉายแสง” บ้านใหญ่ในตำนานที่พลาดโอกาสลงสนามกลางคันเมื่อสมัยการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว จากการถูกยุบพรรค “ไทยรักษาชาติ” และ พ่ายต่อการเลือกตั้งต่อเนื่องรวม 2 สมัย ในปีนี้ “ฐิติมา ฉายแสง” อดีต ส.ส.หญิงเพียงหนึ่งเดียวของเมืองแปดริ้วพร้อมลุยงานลงสนามสู้ศึกในนามพรรคเพื่อไทย  เขตนี้ฐิติมาถือว่ามาแรงสุด

โดยมี  อาร์ม “มติชน ชูทับทิม” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ผู้เป็นทายาทของเจ้าพ่อแห่งวงการค้าไข่ไก่ในระดับชาติ ตามมาลำดับ 2 เพราะมีเครือข่ายผู้เพาะเลี้ยงไก่ไข่อยู่ในกำมือ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ไก่ “กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์” นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ผู้ใกล้ชิดเกาะติดคนบ้านใหญ่ในวงศ์คณาญาติ ของคนดังแห่งเมืองชลบุรี "สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ให้มาลงแข่งในสนามในนาม “พรรครวมไทยสร้างชาติ” พ่อและลุงเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ที่สั่งสมกระแสสร้างคะแนนอยู่ในพื้นที่มายาวนาน ที่อาจสร้างมวลชนดึงดูดแรงใจให้คนได้ช่วยกันกาบัตรออกเป็นคะแนนเสียงให้ได้โดยไม่ยาก

ถัดมาเป็นทายาทคนดังอีกราย “รัฐสภา นพเกตุ” อดีตรองนายก อบจ.ฉะเชิงเทรา เขยบ้านใหญ่คนดังในพื้นที่อีกตระกูล “จารุสมบัติ” ที่ส่งมาลงชิงชัยในนามของพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของ 2 พรรคให้หลอมรวมเข้าด้วยกันได้อย่างน่าเกรงขามในสนามเลือกตั้ง ระหว่างผู้เป็นบิดา “กำนันบัง” หรือ นายสมบัติ นพเกตุ คนดังแห่งหัวสำโรงแปลงยาว

ส่วนด้านตัวเต็งผู้สร้างกระแสเก่งในพื้นที่อีกรายนั้น คือ นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ แชมป์เก่าที่แจ้งเกิดได้ภายใต้กระแสของพรรคคนวัยหนุ่มดั้งเดิม “อนาคตใหม่” ก่อนย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ลงพื้นที่ตลอด 4 ปีมีคะแนนเสียงจากชาวบ้าน และให้มีคะแนนนำในเขตนี้

นอกจากนี้ ยังมี นายประโยชน์ โสรัจจกิจ อดีตพนักงานการประปา อดีตประธานหอการค้า จ.ฉะเชิงเทรา มาแล้ว 1 สมัย และเตรียมความพร้อมมาขอลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์ นายเถลิง จูจำรัส เศรษฐีผู้ไต่เต้าเติบโตมาจากวงการค้าเป็ดลงในนามของพรรคชาติไทยพัฒนา ล่าสุด “เชิดชัย บัณฑุเจษฎา”ลงสมัครในนามพรรค “เสรีรวมไทย”

แต่อย่างไรก็ตาม นาทีนี้เขต 1 ต้องยกให้ "ฐิติมา" จากพรรคเพื่อไทย ที่แรงทั้งคนและพรรค

 

เขตเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วย

นายอมรชัย ปิ่นเจริญ พรรคประชาธิปัตย์ , นายนพรัตน์ มุริกะ พรรคก้าวไกล ,นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ พรรคเพื่อไทย , นายอรรถกร ศิริลัทธยากร พรรคพลังประชารัฐ , โดยมี น.ส.รุ้งณภา สิงห์เทศ จากพรรคภูมิใจไทย ,นายไพบูลย์ พิศาลยุทนาพงษ์ จากพรรคเสรีรวมไทย

สำหรับเขต 2 แม้กระแสของ "นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ" จากพรรคเพื่อไทยจะมาแรง เพราะคนยากเปลี่ยน ตาอรรถกร จากพลังประชารัฐ ฐานเสียงยังแน่นหนากว่า  

ยกแรกเขต 2 จึงให้นายอรรถกร พลังประชารัฐนำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย

นายเอกราช เนตรดี พรรคก้าวไกล , นายหัสชัย สิงหนนท์ พรรคเสรีรวมไทย , น.ส.ลัดดาวัลย์ น่วมรัศมี พรรคไทยศรีวิไลย์ , นายสายัณห์ นิราช พรรคพลังประชารัฐ , นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย , นายสายัณห์ เกตุประยูร พรรคประชาธิปัตย์ , นายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะที่พรรคภูมิใจไทยส่ง น.ส.เสาวลักษณ์ น้อยคำเมือง 

โดยตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย มาเป็นอันดับ 1 คือ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ตามด้วย นายธรรมชาติ พรมพิทักษ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ

 

เขต 3 โค้งแรก นายศักดิ์ชาย มดเล็ก น้องชายมดดำ คชาภา ตันเจริญ จากพรรคเพื่อไทยนำ

 

เขตเลือกตั้งที่ 4 ประกอบด้วย นายศุภกร นพศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ,นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล , จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ พรรครวมไทยสร้างชาติ , นายอนุเทพ ชาติเชษฐ์พงษ์ พรรคเสรีรวมไทย,นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย ,น.ส.สาริศา แสงจันทร์ พรรคภูมิใจไทย , พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ พรรคพลังประชารัฐ  และ นายสุระเด่น สุวรรณะ พรรคไทยศรีวิไลย์

เขตนี้ต้องจับตามองว่า นายจิรัฏฐ์  ทองสุวรรณ์ จากพรรคก้าวไกล เจ้าของเก้าอี้ส.ส. เขตนี้ในการเลือกตั้งปี 2562 จะรักษาเก้าอี้นี้ไว้ได้หรือไม่ เมื่อต้องเจอคู่แข่งจากเพื่อไทย คือ นายวุฒิพงษ์  ฉายแสง ที่รอบนี้เพื่อไทยหมายมั่นปั้นมือจะกวาดที่นั่งส.ส.ยกจังหวัด

อย่างไรก็ตาม เขตนี้ นายวุฒิพงษ์ จากเพื่อไทยค่อนข้างมีปัญหาจากการไม่ขยันลงพื้นที่ ต่างจากนายจิรัฏฐ์ ที่มีผลงานชัดเจนทั้งในสภา และขยันลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ยกแรกเขตนี้แม้กระแสเพื่อไทยจะมาแรง แต่ยังคงต้องให้แชมป์เก่า จิรัฏฐ์ จากก้าวไกลออกนำไปก่อน  

ชลบุรี “เพื่อไทย”โอกาสแลนสไลด์สูง

เขต 1       พท.

เขต 2       พท.

เขต 3       รทสช.

เขต 4       รทสช.

เขต 5       พท.

เขต 6       รทสช.

เขต 7       พท.

เขต 8       ก้าวไกล

เขต 9       พท. สูสี รทสช.

เขต 10 พท. สูสี  รทสช.

สนามเลือกตั้ง ส.ส.ชลบุรี ถือว่าเป็นสนามเลือกตั้งที่น่าจับตามอง เพราะมีการแข่งขันกันสูงระหว่างกลุ่มบ้านใหญ่ ซึ่งมีนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นผู้กุมบังเหียน กับกลุ่มบ้านใหม่ มีนายสุชาติ ชมกลิ่น หรือรัฐมนตรีเฮ้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลทั้งจังหวัด ซึ่งได้แยกตัวมาจากกลุ่มบ้านใหญ่ เพื่อมาตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี พร้อมทั้งส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในนามของกลุ่มพลังใหม่ หรือกลุ่มพลังเฮ้ง และมีสโลแกนว่า “พวกกันสำคัญเสมอ”

การแตกแยกในครั้งนี้มีผลพวงมาจากรัฐมนตรีเฮ้งมีความเห็นต่างทางการเมืองกับบ้านใหญ่ และ มองว่าบ้านใหญ่ไม่รักษาสัญญา หากผลักดัน ส.ส.ได้ 3 เขตเลือกตั้ง จะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นบำเหน็จ

ประกอบกับกลุ่มบ้านใหญ่ยังต้องการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหมด ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นหลายคนไม่มีโอกาสแจ้งเกิดทางการเมือง จึงได้ตัดสินใจแยกตัวออกมา โดย รัฐมนตรีเฮ้ง ได้เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมทั้งยืนยันว่าจะติดตามบิ๊กตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผลักดันให้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่วนบ้านใหญ่เข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย

สำหรับการเลือกตั้งในพื้นที่ จ.ชลบุรี หลายคนได้จับตามองการแข่งขันระหว่างกลุ่มบ้านใหญ่ กับกลุ่มบ้านใหม่เป็นหลัก เพราะหากใครได้ ส.ส.สังกัดมากที่สุด ก็จะมีอำนาจทางการเมืองในพื้นที่ จ.ชลบุรี ทุกระดับ สำหรับ จ.ชลบุรี มี ส.ส.ได้ทั้งหมด 10 คน

เขต 1 พรรคเพื่อไทยส่ง น.ส.สุภีพันธุ์ หอมหวล หรือ สจ.แอ้ ลูกสาวนายภาสกร หอมหวล หรือ สท.เหี่ยว คนสนิทกำนันเป๊าะลงสมัครรับเลือกตั้ง ช่วงแรกมีกระแสว่า นายสุชาติ ชมกลิ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรครวมไทยสร้างชาติ จะลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับ สจ.แอ้ ปรากฏว่าจากการทำไพรมารี่โหวต มีมติให้ น.ส.ณภัสนันท์ อรินทคุณวงษ์ น้องเมียของนายสุชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

หากวัดพื้นฐานคะแนนความนิยมจะพบว่า น.ส.สุภีพันธุ์ มีความโดดเด่นมากกว่า เนื่องจากได้ลงพื้นที่หาเสียงมายาวนาน ประกอบกับ น.ส.ณภัสนันท์ ถึงแม้ว่าครอบครัวจะมีร้านทองในตลาดหนองมน แต่ขาดความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ความโดดเด่นจึงตกเป็นของ น.ส.สุภีพันธุ์

ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอื่น ๆ ยังไม่มีความโดดเด่น แต่พรรคที่น่าสนใจคือ พรรคก้าวไกล ซึ่ง นายวรท ศิริรักษ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่พื้นที่อยู่ใน ต.บางทราย อ.เมืองชลบุรี จึงต้องใช้กระแสพรรคช่วย จึงทำให้คะแนนเสียงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร โอกาสที่ น.ส.สุภีพันธุ์ จะได้รับการเลือกตั้งจึงมีสูงตามไปด้วย

  • เขต1 นางสาวสุภีพันธ์ จากเพื่อไทยนำขาด
  • เขต 2 พรรคเพื่อไทยส่ง นายฉัตรชัย อั้งลิ้ม อดีตนายกเทศมนตรีเมืองบ้านสวนลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะแข่งกับ นายคงพัชร ไขรัศมี อดีต สจ.ชลบุรี เพิ่งถูกทาบทามมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากครั้งแรกให้วางตัว นายอุกฤษณ์ ตั๊นสวัสดิ์ หรือ นายกอุ๊ย อดีต ส.ส.ชลบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ดี จึงขอสละสิทธิ์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง

จึงทำให้ความโดดเด่นไปตกที่ นายฉัตรชัย เนื่องจากได้คะแนนเสียงจากประชาชนในการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีการแจกข้าวสารอาหารแห้งในพื้นที่เทศบาลเมืองชลบุรี เทศบาลเมืองบ้านสวน ประกอบกับทางบ้านใหญ่ได้ประสานงาน นายสามารถ สุขสว่าง นายกเทศมนตรีตำบลนาป่า และมีความใกล้ชิดกับกำนันเป๊าะ มาช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง จึงทำให้มีฐานคะแนนเสียงดีขึ้น สนามนี้ต้องยกให้นายฉัตรชัย

ส่วนอีกคนที่ต้องจับตามองคือ ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง อดีต ส.ส.ชลบุรี สมัยที่ผ่านมา แต่ขาดกำลังหลักคือกำนันบั๊ก หรือ นายกำพล วงศ์ทรายทอง ผู้ทรงอิทธิพลในการเลือกตั้งพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี ซึ่งได้เสียชีวิตลง จึงทำให้ขาดหัวคะแนนสำคัญในพื้นที่ไปหมด เพราะไม่มีผู้ประสานงาน ในการเลือกตั้งครั้งนี้จึงขาดความโดดเด่น

เขต 2 นายฉัตรชัย จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทยส่ง นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยแข่งขันกับ สจ.ตี๋ หรือ นายสุรพงศ์ นำชัยรุจิพงศ์ อดีต สจ.ชลบุรี ลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่าสนามนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเช่นกัน แต่นายสุรพงศ์ หลังจากถูกวางตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่เขต 3 ชลบุรี ได้ลงพื้นที่อย่างหนักกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจากนายก อบต.หลายพื้นที่ใน อ.พานทอง และ อ.บ้านบึง จึงทำให้ฐานคะแนนโดดเด่น

อย่างไรก็ตามนายมานิตย์ ก็ยังไม่ทิ้งลาย เพราะได้แรงสนับสนุนจากตระกูล “คุ้มครอง” ซึ่งมีฐานเสียงในพื้นที่ อ.พานทอง และเป็นฐานคะแนนที่มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวนมาก รวมทั้งฐานเสียงจากพื้นที่ ต.หนองไม้แดง ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นกำเนิด สนามนี้สูสี แต่ความโดดเด่นไปอยู่ที่ สจ.ตี๋ หรือ นายสุรพงศ์ นำชัยรุจิพงศ์ ส่วนผู้สมัครพรรคอื่นๆ ยังขาดความโดดเด่น

  • เขต 3 สจ.ตี๋ จากรวมไทยสร้างชาติ ออกนำไปก่อนในช่วงแรก
  • เขต 4 ถือว่าสนามนี้จะมันส์สุดขั้ว เพราะคู่อริเก่าเจอกัน พรรคเพื่อไทยส่งนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ หรือ ส.ส.ต้น อดีต ส.ส.ชลบุรี 3 สมัยติดต่อกัน แข่งกับนายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง หรือ ส.ส.เป้า ลูกชายเฮียซุ้ย หรือ นายดรงค์ สิงห์โตทอง อดีต ส.ส.ชลบุรีหลายสมัย และ นายจิรวุฒิ เป็นคนของพรรคเพื่อไทยเก่า แต่การส่ง ส.ส.ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยไม่พิจารณาให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงถูกทาบทามจากรัฐมนตรีเฮ้ง ให้มาร่วมมือทางการเมือง จึงได้พลิกขั้น 360 องศา จากพรรคเพื่อไทยมาอยู่รวมไทยสร้างชาติ

 

ดังนั้นถือว่าสนามนี้ไม่ธรรมดา เพราะการแข่งขันในครั้งนี้รัฐมนตรีเฮ้ง สนับสนุน ส.ส.เป้า อย่างเต็มที่ เพื่อแย่งชิงฐานการเมืองในพื้นที่เขต 4 และยังเป็นการขยายพื้นที่มาในเขต อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.หนองใหญ่ ซึ่ง ส.ส.เป้าเคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยและลงเลือกตั้ง ส.ส.มาแล้ว 3 ครั้ง ไม่เคยชนะ ส.ส.ต้น พ่ายแพ้มาตลอด ครั้งนี้ ส.ส.เป้า ขอสู้เต็มที่และขอทิ้งลาย ก่อนที่จะปล่อยให้คนรุ่นลูกมาเล่นการเมืองแทน

สำหรับเขต 4 สนามนี้ถึงแม้ว่า ส.ส.ต้น จะโดดเด่น แต่ ส.ส.เป้า ครั้งนี้ก็มีความพร้อมทั้งทรัพยากร และอำนาจรัฐ ถือว่าทั้งพรรคเพื่อไทย และ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเท่าๆ กัน อยู่ที่ใครจะกำหัวคะแนนได้มากกว่ากัน ผู้นั้นก็จะได้รับชัยชนะ

แต่อย่างไรก็ตาม เขตนี้ คอการเมืองยังให้ ส.ส.เป้า จากรวมไทยสร้างชาติเหนือกว่า ส.ส.ต้นที่แม้จะขุมกำลังที่ผสมกัน 3 ส่วน ทั้งคะแนนพรรคเพื่อไทย คะแนนพลังชล และคะแนนของตระกูลเนื่องจำนงค์ แต่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ฐานคะแนนของคนเสื้อเหลืองเดิม ทำให้ ส.ส.ต้นอาจจะเสียเปรียบ ส.ส.เป้าจากปัจจัยนี้

ยกแรกยังให้ส.ส.เป้า จากรวมไทยสร้างชาติ นำ

  • เขต 5 พรรคเพื่อไทยส่ง นายอนันต์ ปรีดาสุทธิจิตต์ อดีต สจ.ชลบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะแข่งกับนายรณเทพ อนุวัฒน์ อดีต ส.ส.ลงแข่งในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ล่าสุด สนามนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายรณเทพ ได้ใช้หัวคะแนนของกลุ่มบ้านใหญ่ในนามของพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้ชนะการเลือกตั้ง ประกอบกับคู่แข่งไม่แข็งแรงพอ จึงทำให้ชนะด้วยคะแนนกว่า 5 หมื่นคะแนน

แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ นายรณเทพ จะต้องใช้หัวคะแนนของตัวเอง จึงทำให้ขาดความโดดเด่น ส่งผลให้ นายอนันต์ มีโอกาสได้รับชัยชนะสูง เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจาก นายวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี ซึ่งเคยกรำศึกลงเลือกตั้งในพื้นที่ อ.พนัสนิคม และ อ.เกาะจันทร์มาก่อน ทำให้มีหัวคะแนนที่ไว้ใจได้มีจำนวนมากสนามนี้ นายอนันต์จึงมีความโดดเด่น

นอกจากนี้ยังมี นายประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี ลงกรำศึกในครั้งนี้ด้วย โดยสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ แต่ฐานคะแนนยังไม่โดดเด่น แต่จะเป็นตัวฉุดคะแนนทั้ง นายอนันต์ แล ะนายรณเทพ เพราะนายประมวลได้ลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่นี้มานาน และมีฐานคะแนนพอสมควร อย่างไรก็ตามเขตเลือกตั้งนี้ นายอนันต์ ยังมีความโดดเด่น

เขต 5 นายอนันต์ เพื่อไทยนำมาก่อนในโค้งแรก

เขต 6 พรรคเพื่อไทยส่ง นางสุกุมล คุณปลื้ม ภรรยาของนายสนธยา คุณปลื้ม แกนนำของคนบ้านใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า สนามนี้ นายสนธยา จะต้องปิดประตูตายให้ได้ ตามสโลแกนที่ว่า “เมียข้าใครอย่าแตะ” ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งนายสมเจตน์ เกตุวัตถา อดีตนายกเทศบาลตำบลบางพระ สำหรับสนามเลือกตั้งนี้ถือว่าสูสี

หากนายพันธ์ศักดิ์ เกตุวัตถา อดีต ส.ส.ชลบุรี หันมาช่วย นายสมเจตน์ ก็จะทำให้คะแนนเสียงโดดเด่นขึ้นมา เนื่องจากบ้านใหญ่มีความเห็นต่างกันอย่างรุนแรง พร้อมประกาศว่าจะไม่คบคนในตระกูล “เกตุวัตถา” อย่างไรก็ตามสนามนี้นายสนธยา ยอมแพ้ไม่ได้ จะต้องหาหนทางดับฝันนายสมเจตน์ ทำให้นางสุกุมลมีโอกาสชนะสูง

  • เขต 6 แม้เขตเมียข้าใครอย่าแตะ แต่การรวมพลังกันของรัฐมนตรี เฮ้ง กับ ตระกูลเกตุวัตถา ทำให้ยกแรกนายสมเจตน์ ยังนำนางสุกุมลอยู่เล็กน้อย
  • เขต 7 พรรคเพื่อไทยส่ง นายสงกรานต์ ภาชนะ อดีต สจ.ชลบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้ง แข่งกับ นายรุ่งเพชร แจ่มเจริญ หรือนายกฯ แขก อดีต นายก อบต.บ่อวิน ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ หากมองดูแล้วนายรุ่งเพชร มีฐานคะแนนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน ส่งผลให้นายสงกรานต์มีความโดดเด่นมากกว่า ที่สำคัญยังได้ฐานคะแนน สจ.ช่วยอีกทางหนึ่งด้วย

เขตนี้ นายสงกรานต์ เพื่อไทยได้เปรียบพื้นที่ ยังนำขาดเช่นกัน

  • เขต 8 พรรคเพื่อไทยส่ง นายแมน อินทร์พิทักษ์ อดีต สจ.ชลบุรี ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับนายมานพ ประกอบธรรม อดีตนายกเทศมนตรีตำบลตะเคียนเตี้ย พรรครวมไทยสร้างชาติ สนามเลือกตั้งนี้ถือว่าสูสีเช่นกัน จะต้องวัดกันในเรื่องบรรดาหัวคะแนนของแต่ละฝ่าย ว่าใครจะเจ๋งกว่ากัน

อย่างไรก็ตามอย่าลืมสนามนี้ยังมี นายจรัส คุ้มไข่น้ำ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่และหวังว่าจะได้คะแนนจากผู้ใช้แรงงานสนับสนุน นับว่าสนามนี้สูสีกันมากทั้ง 3 พรรคการเมือง แต่นายจรัส อาจจะได้เปรียบในฐานะที่เคยชนะมาก่อน และมีฐานเสียงก้าวไกลในพื้นที่เหนียวแน่น

เขต 8 นายจรัส ก้าวไกล ยังนำในการประเมินครั้งแรก

  • เขต 9 พรรคเพื่อไทยส่ง นายชวลิต แสงอุทัย อดีตนายอำเภอบางละมุง และ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ที่สำคัญครอบครัวยังอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งอีกด้วย ทำให้มีฐานคะแนนหนาแน่น ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา ลงสมัครรับเลือกตั้งถือว่ามีคะแนนดีเหมือนกัน เพราะมีการเตรียมการจะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาในสมัยที่ผ่านมา แต่มีเหตุขัดข้องบางประการ จึงตัดสินใจส่งน้องชายคือ นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาแทน

ถือว่า นายนิรันดร์ เล่นการเมืองมาแล้วหลายสมัย มีความช่ำชองในเรื่องของฐานเสียง ส่งผลให้ฐานคะแนนของนายชวลิตกับนายนิรันดร์สูสี จึงต้องมาวัดกันในเรื่องหัวคะแนน หากใครกุมหัวคะแนนได้มากกว่า ก็มีโอกาสได้รับชัยชนะ

เขต 9 ผู้ว่าฯชวลิต และ เป็นอดีตนายอำเภอบางละมุง แถมยังคนท้องที่ จากพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะมีปัญหา ออกตัวนำไปก่อนในช่วงต้น

  • เขตเลือกตั้งที่ 10 พรรคเพื่อไทยส่ง นายพนธกร ใคร่ครวญ ลูกชายพลเรือเอก ธนกาญจน์ ใคร่ครวญ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะพื้นที่ อ.สัตหีบ ส่วนใหญ่จะมีฐานคะแนนเสียงของทหารเรือเป็นหลัก หากกล่าวไปแล้วทหารเรือไม่ค่อยถูกกับทหารบก ส่งผลให้มีคะแนนเสียงโดดเด่น ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติส่ง นายสมชาติ คุณปลื้ม หรือ ทิดเล็ก น้องชายกำนันเป๊าะ หรือ นายสมชาย คุณปลื้ม ลงสมัครรับเลือกตั้งถือว่าเป็นการข้ามห้วยจาก ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี มาลงสมัครรับเลือกตั้งใน อ.สัตหีบถือว่าไม่มีฐานคะแนนเสียง

อย่างไรก็ตามที่สำคัญสนามเลือกตั้งเขตนี้เป็นพื้นที่ของ ดร.เอ หรือ นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ อดีต ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่เบียดนายพนธกร หลุดโค้งสุดท้าย ทั้งที่ถูกวางตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นความแค้นใจลึกๆ ของนายพนธกร จึงต้องขอพิสูจน์ว่าสนามเลือกตั้งที่ 10 พื้นที่ อ.สัตหีบ ใครจะเป็นเจ้าของตัวจริง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า นายพนธกร จะลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรกก็ตาม หากทหารเรือไม่ทิ้งกัน เชื่อว่า นายพนธกร ก็มีโอกาสได้รับเลือกตั้งสูงเช่นกัน

เขต 10 เขตทหารเรือ และเป็นเขตเดิมที่เพื่อไทยชนะทุกครั้ง ทำให้นายพนธกร จากเพื่อไทยยังนำห่างในช่วงแรก

สำหรับกระแสของคนบ้านใหญ่ ที่มีนายสนธยา เป็นแกนนำได้สร้างความหวังลึก ๆ ว่า พรรคเพื่อไทย จะต้องได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 6 ที่นั่งในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566

ขณะเดียวกันมีคอการเมืองบางคนวิเคราะห์ว่าเลือกตั้งครั้งนี้ “เพื่อไทย” มีโอกาสแลนสไลด์สูง

เนชั่นวิเคราะห์เลือกตั้ง จ.ตราด

มี  1 เขต   เพื่อไทย

จังหวัดตราด มีเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 เขต การเมืองตราดเริ่มเข้มข้น ทุกพรรคเร่งลงพื้นที่หาเสียง เปิดเวทีกันรายวัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายก อบจ.ตราด ถึงกับปรับปรุงรีสอร์ตส่วนตัว ให้เป็นที่ทำการพรรค เปิดหน้าหนุน ทิณวัฒน์ เจียมอุย รองนายก อบจ.ตราด และอดีตนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ตราด ผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งครั้งที่แล้วสังกัด พรรคไทยรักษาชาติ แต่ถูกศาลสั่งยุบ จึงพลาดโอกาสลงสมัคร 

ที่่ผ่านมาผลงาน ทิณวัฒน์ กำนันมือปราบยาเสพติด อาชญากรรมมากมาย หวังโหนกระแสอุ๊งอิ๊งเข้าสภา อีกทั้งยังได้FC จากชมรมผู้สูงอายุทุกแห่งในจังหวัดตราด และแฟนคลับสโมสรตราดFC ที่ วิเชียร ทรัพย์เจริญ ทำอยู่ เป็นฐานคะแนนสำคัญขณะเดียวกันก็ยังมีฐานคะแนนจาก ส.จ.เขต ต่าง ๆ ทั่ว จังหวัดตราด ที่วิเชียร ดึงเป็นฐานคะแนนในสังกัดไว้เกือบหมดแล้ว จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า งานนี้ ทิณวัฒน์  เจียมอุย น่าจะลอยลำเข้าสภาตามคาด

ส่วน ศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.โอ๋ จากพรรคก้าวไกล คนมีเส้น (ทำขนมจีน) แม้ไม่มีเส้นสายใครหนุนหลัง แต่ก็มีผลงาน และความขยัน ลงพื้นที่ ช่วยเหลือชาวตราดทุกหย่อมหญ้าที่มีปัญหา ชาวบ้านที่ได้รับความช่วยเหลือ รวมตัวกันหาคะแนนช่วยเหลือ แม้ไม่มากเท่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย แต่ยังหวังว่า ชาวตราดจะให้โอกาสกลับเข้าสภาอีกครั้ง

ส่วนคนนี้ก็ไม่ธรรมดา ประทีป เลขาพันธุ์  พรรคบิ๊กตู่ ยังหวัง ชิงตำแหน่งในนามพรรครวมไทยสร้างขาติ มีดีกรีเป็นเลขาอดีต ส.ส.ธีระ สลักเพชร 5 สมัย และมีผลงานมากมาย อดีตผู้สมัครนายก อบจ.ตราด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฯพณฯ สุชาติ ชมกลิ่น ช่วงนี้ไม่มีวันหยุด ลงพื้นที่เช้ายันค่ำ หวังผลงานเก่าและกระแสบิ๊กตู่ที่ชาวบ้านชื่นชมเงินช่วยช่วงโควิด

คนนี้ก็มาแรง อาศัยเป็นคนขยันลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านสม่ำเสมอ และ ยังได้กระแสบิ๊กป้อม พรรคพลังประชารัฐ นายกิตติธัช ไชยอรรถ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แม้จะดูไม่หวือหวาเหมือนพรรคอื่นๆ แต่ในสนามเลือกตั้งเมืองตราด กิตติธัช มีผลงานช่วยชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง ทุกข์ที่ไหน ไปที่นั่น ทำการบ้านมาเป็นปี ชาวบ้านหลายชุมชนเห็นผลงานและก็หวัง รางวัลความขยัน บวกกับกระแสบิ๊กป้อม จะได้คนกาช่วยให้เข้าสภาได้

มาที่วศิน พงษ์ศิริ ดาวรุ่งจากพรรคภูมิใจไทย มาแรงจากผลงานมากมายเช่นกัน เป็นที่ปรึกษารฐัมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นบุคคลทางการเมืองที่เปิดตัวและลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีผลงานทางสังคม การช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอด คนเมืองตราดฝากความหวังไว้อยากได้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะได้มีงบประมาณ ไม่อดอยากปากแห้งแบบจังหวัดพรรคฝ่ายค้าน  แม้ช่วงนี้ภูมิใจไทยจะโดนกระแสชูวิทย์โจมตีหนักก็ตาม

นี่เป็นผู้สมัครแต่ละคน แต่ละพรรค ที่คาดว่าจะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งเข้าสภา ไม่ใช่ลงเป็นไม้ประดับ หวังเงินพรรคมาชิมลาง หวังคะแนนบางส่วนช่วยพรรค ไม่หวังได้รับการเลือกตั้ง ลงสมัครทั้งๆรู้ว่าสู้ไม่ได้  ชาวตราดสนใจการเลือกตั้งเพราะห่างหายมานาน หวังจะกำหนดอนาคตบ้านเมืองตัวเองว่า จะเอาใครมาเป็นผู้แทนในการพัฒนาบ้านเมืองตัวเองกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม การหาเสียงของผู้สมัคร ไม่มีการโจมตี ใส่สี ตีไข่ป้ายโคลน เล่นกันตามกติกา รอเวลาเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งกันต่อไป

ตราด รอบนี้ยังต้องยกให้นายวิเชียร จากพรรคเพื่อไทย

 

จังหวัดปราจีนบุรี  มี ส.ส. จำนวน 3 เขต

  • เขต 1 ภท.
  • เขต 2 ภท.
  • เขต 3 ภท.

ทันทีที่ระฆังเวที ส.ส.ปราจีนบุรีลั่น! ที่ผ่านมามีเพียง 2 พรรคที่เปิดตัวผู้สมัครส.ส.ทั้ง 3 เขตอย่างเป็นทางการ คือ “ก้าวไกล” กับ “ภูมิใจไทย” ส่วนพรรคอื่นส่วนใหญ่มีเพียงป้ายหาเสียง

สำหรับผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี ของพรรคภูมิใจไทย ทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง ประกอบด้วย เขต 1 นายอำนาจ วิลาวัลย์,เขต 2 นายชยุต ภุมมะกาญจนะ และ เขต 3 ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร

ขณะที่ผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เขต 1 นายไพฑูรย์ นาคหิรัญ เขต 2 นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา และเขต 3 นายสุนทร คมคาย

จังหวัดปราจีนบุรี แทบไม่ต้องวิเคราะห์อะไรเลย ดูจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ว่าที่ ส.ส.เขต 1 คงไม่พ้น นายอำนาจ หรือ กบ วิลาวัลย์ จากพรรคภูมิใจไทย โดย นายอำนาจ หรือ ส.ส.กบ เป็นหลานชายโทนคนเดียวของตระกูลวิลาวัลย์ ที่มี นายสุนทร หรือ โกทร วัย 85 ปี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (อบจ.) และ อดีต รมช.สาธารณะสุข เป็นฐานเสียงหลัก

นอกจากนี้ ยังมีแม่ทัพเอกอย่าง นางบังอร หรือ ป้าอ้วน วิลาวัลย์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี(อบจ.)ปัจจุบัน เป็นประธานสภาวัฒนธรรม จ.ปราจีนบุรี ที่ออกงานทุกงาน ทั้งงานราษฎร์และงานหลวง

จากฐานเสียงหลัก 2 คนแล้ว ส.ส.กบ ยังมีลูกพี่ลูกน้องคือนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ ถือเป็นฐานเสียงกำลังใหญ่อีกคนหนึ่งด้วย

ส่วนคนมาอันดับ 2 ใน เขตเลือกตั้งที่ 1 นี้ คาดว่าคือ นางกฤษณ์กมล แพงศรี (หมอหนา) จากพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้าผ่านเวทีผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (อบจ.), ผ่านเวทีผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี ในนามพรรคก้าวหน้า ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 มาแล้ว

แต่นาทีนี้ นางกฤษณ์กมล ยังเป็นเบอร์รอง แม้จะอยู่พรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งเปลี่ยนมาสวมเสื้อสีแดง ทำให้ ชาว นปช.ในพื้นที่ ไม่ปลื้ม เพราะในอดีต “หมอหนา” สวมเสื้อสีส้มของอนาคตใหม่หรือ พรรคก้าวไกลปัจจุบันมาก่อน ไม่ได้ร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับคนเสื้อแดงในพื้นที่ แถมมาชิงตัดหน้าเป็น ผู้ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่คนเสื้อแดงหวังว่าพรรคจะส่งลงสมัคร

เขต 1 เป็นนายอำนาจ จากภูมิใจไทยที่ยังอาศัยฐานตระกูลวิลาวัลย์นำห่าง

ส่วนว่าที่ ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 2 คงเป็นอดีต ส.ส.คนเดิมของพรรคภูมิใจไทยคือ นายชยุต ภุมมะกาญจนะ บุตรชายของ นายสมาน ภุมมะกาญจนะ อดีต รมช.อุตสาหกรรม ที่ทั้งพ่อ และตัวของนายชยุตเอง ปูฐานเสียงทางการเมืองมายาวนานในทุกระดับ

ในเขต 2 นี้ คะแนน หรือ อันดับ 2 คาดว่าน่าเป็น นายวุฒิพงศ์ ทองเหลา พรรคก้าวไกล โดย นายพุฒิพงษ์ ทองเหลา เป็นอดีตวิศวกรระบบเจ้าของธุรกิจโรงงานผลิตอาหาร มีความสนใจร่วมงานกันพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาทำผลงานทำ เรื่องคัดค้านผลประโยชน์เหมืองแร่ทรายแก้ว อ.ประจันตคาม ปัญหาขยะอุตสาหกรรม อ.ศรีมหาโพธิ และ การเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 หนุ่ม-สาวฉันทนา ย่านนิคมอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรม เทคะแนน แบบโดดๆ ให้กับพรรคก้าวไกลอย่างถล่มทลาย หากนายพุฒิพงษ์ เดินถึง –เข้าถึงแรงงานกลุ่ม“ฉันทนา”คาดว่าจะได้รับคะแนนส.ส.และคะแนนพรรคมาลำดับ 2

เขต 2 นายชยุต ภูมิใจไทยฐานคะแนนยังแน่นหนา ออกนำไปก่อนแบบห่างๆ

ส่วนผู้ที่คาดว่าจะได้เป็นว่าที่ สส. เขต 3 คือ ดร.สฤษดิ์ บุตรเนียร พรรคภูมิใจไทย เช่นกัน ที่ผ่านมาเป็นเจ้าของ- ผู้จัดการโรงเรียนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะปราจีนบุรี ทั้งใน อ.กบินทร์บุรี –อ.นาดี มีพี่ชายคือนายรังสรรค์ บุตรเนียร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกบินทร์

ดร. สฤษดิ์ ก่อนเป็น ส.ส.ปราจีนบุรีเขต 3 เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.ปราจีนบุรี (สว.) มาก่อน เกาะติดพื้นที่ มีผลงานการอภิปรายให้ประชาชนเห็นอยู่เสมอ

ส่วนอันดับ 2 ในเขต 3 ที่ต้องสู้กัน แบบเฉือนแต้มต่อแต้ม ระหว่าง นายคงกฤช หงส์วิไล พรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.ปราจีนบุรี และอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี(อบจ.) โดยมีคะแนนนิยมเฉือนแบบสูสีกับนายสุนทร คมคาย จากพรรคก้าวไกล ที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ แต่ใหม่เฉพาะเวที ส.ส.เท่านั้น

ในอดีต นายสุนทร พบปะกับประชาชนมาตลอด เกี่ยวกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์,การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม - การต่อต้านขยะพิษ-ขยะอุตสาหกรรม ,การอนุรักษ์ต้นน้ำบางปะกง การวางโครงสร้างผลักดันช้างป่า เขตเขาอ่างฤาไน จากจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่บุกข้ามฝั่งมาหากินที่ปราจีนฯ

เขต 3 เป็น ดร.สฤษดิ์ จากภูมิใจไทยเช่นกันที่ยังนำตั้งแต่โค้งแรก แต่ให้ระวังนายสุนทร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่ฐานคะแนนจะมองเห็นก็ต่อเมื่อวันลงคะแนนเท่านั้น

แต่โดยสรุปแล้ว “พรรคภูมิใจไทย”น่าจะแลนด์สไลด์กวาดทั้ง 3 เขตของปราจีนบุรี ส่วนอีกพรรคการเมืองหนึ่งคือ พรรคก้าวไกล โดยเห็นจากการลงพื้นที่มาปราศรัยที่ปราจีนบุรี เปิดตัวผู้สมัครทั้ง 3 เขต มีประชาชนรับฟังการปราศรัยคับคั่ง

การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด ขณะนี้มาเป็นพรรคก้าวไกล เชื่อว่าการทำงานอย่างทุ่มเทในสภาตลอด 4 ปี จะทำให้ได้รับความไว้วางใจและได้คะแนนจากชาวปราจีนบุรีมากขึ้น

ในส่วนของจังหวัดระยอง มี  5 เขตเลือกตั้ง

  • เขต 1       ปชป.
  • เขต 2       ปชป.
  • เขต 3       พท.
  • เขต 4       ปชป.
  • เขต 5       ก้าวไกล

สนามเลือกตั้ง ระยอง ในครั้งนี้ มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทำให้มี ส.ส.เพิ่มจากเดิม 4 คน เป็น 5 คน ทุกพรรคการเมืองจึงตั้งเป้า หมายปองช่วงชิงให้ได้เก้าอี้ในทุกเขต และที่น่าลุ้นคือแต่ละเขตพื้นที่ที่ถูกแบ่งไม่เหมือนเดิม หลายพื้นที่ถูกแยกหัวคะแนนออกไป ส.ส.เก่าย่อมหนักใจไม่น้อย

เขต1 สมพงษ์ โสภณ อดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ล่าสุดย้ายไปลงสนามเลือกตั้งในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ แข่งกับ พเนตร วงษ์ไพศาล พรรคเพื่อไทย และพศิน ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเอิร์ธ กมนทรรศ์ กิตติสุนทรสกุล ผู้สมัครหน้าใหม่จากก้าวไกลมาเป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญ

เขตนี้แม้สมพงษ์ จากพลังประชารัฐจะได้เปรียบจากการได้พื้นที่เดิมคือ มาบตาพุด แต่กว่าจะถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ พศิน ปิตุเตชะ นักการเมืองรุ่นใหม่หลานชาย ปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยองก็มีฐานคะแนนที่แน่นหนาเช่นกัน

แต่ที่ต้องระวังมากๆ คือ ผู้สมัครจากก้าวไกลที่การเลือกตั้งปี 2562 คะแนนในเขตนี้ถึง 2 หมื่นคะแนน เป็นรองแค่สาธิต ปิตุเตชะ จากประชาธิปัตย์เท่านั้น

เขตนี้ แม้พศินที่อาศัยฐานของนายกช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ จะออกนำไปก่อนในช่วงต้น แต่หากแผ่ว ก็เป็นโอกาสของ กมนทรรศ์ จากก้าวไกลที่จะแทรกเข้ามาแทนได้

ยกแรก พศิน ประชาธิปัตย์ นำ

เขต 2 สาธิต ปิตุเตชะ ที่ประกาศนำทีมสาธิต เข้าชิงชัยทั้งภาคตะวันออกและยังอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ แถมไม่ยอมขยับขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ในสมัยนี้ เพราะต้องการคงไว้ซึ่งฐานเสียง เพราะที่ผ่านมาสาธิตก็ไม่แผ่วกับการลงพื้นที่คลุกคลีช่วยเหลือประชาชน ในฐานะ รมช.สธ. การเลือกตั้งครั้งนี้ สาธิต มีคู่แข่งเดิมๆคือ สริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อยู่พรรคอนาคตใหม่ผลคะแนนสูสีมาที่ 2 ส่วนครั้งนี้ย้ายไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งสริญทิพญ มีดีกรีเป็นนายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด หัวเรี่ยวหัวแรงชาวบ้านช่วงน้ำมันรั่ว และวิกฤติโควิดที่ผ่านมา จึงถือเป็นคู่แข่งที่ สาธิตเองก็ไม่ประมาท

เขต 2 สาธิตแม่ทัพประชาธิปัตย์ ภาคตะวันออกแพ้ไม่ได้ การประเมินช่วงแรก กระแสยังแรงขึ้นนำมาก่อนแบบห่างๆ

เขต 3 จากเดิมเป็นพื้นที่ของ ธารา ปิตุเตชะ ส.ส.เดิม พรรคประชาธิปัตย์ แต่พอเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขต พื้นที่นี้ จึงต้องให้ นายแพทย์บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.เดิม พรรคประชาธิปัตย์ มาลงเขต 3 แทน เพื่อแข่งกับพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง ชัยณรงค์ สันทัสนะโชค อดีตนายก อบต.ทุ่งควายกิน อ.แกลง ส่วน พรรคก้าวไกล ส่ง นครชัย ขุนณรงค์ สู้ศึกชนกับ พลช กฤษณะราช ลูกชาย พณา เจือเพ็ชรกฤษณะราช รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เขตนี้ต้องลุ้นหนักเพราะ ส.ส.เดิมพรรคเดิมก็สั่นคลอน

เขตนี้ ชัยณรงค์ จากเพื่อไทยเหนือกว่าหมอบัญญัติ จากประชาธิปัตย์ที่ไม่ขยันลงพื้นที่ และเขตนี้ไม่ใช่พื้นที่ตัวเองยิ่งเสียเปรียบ

ยกแรก ชัยณรงค์  เพื่อไทยนำ

เขต 4 เขตนี้ การแบ่งพื้นที่ ควบ 3 อำเภอ คือ ปลวกแดง บ้านค่าย วังจันทร์ มีอดีต ส.ส. 5 สมัย ธารา ปิตุเตชะ หรือเสี่ยทุ่น คุมพื้นที่ ฐานคะแนนยังหนาแน่น และยังสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดิม แต่คู่แข่งคนใหม่ที่คุ้นเคย และน่าจับตามอง คือ วิเชียร สุขเกิด อดีตนายก อบต.บางบุตร คนเคยสนิท ลงสมัครพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งหลักมาชนกับ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เต็มที่

เขต 4 เสี่ยธารา ประชาธิปัตย์ไม่น่าพลาด นำโด่งตั้งแต่โค้งแรกจนเข้าป้ายแน่นอน

เขต5 นิคมพัฒนา บ้านฉาง เป็นเขตใหม่ แต่ว่าที่ผู้สมัคร ไม่ใหม่เหมือนเขต วิชัย ล้ำสุทธิ อดีต ส.ส.ระยอง เขต 4 เคยอยู่ พรรคประชาธิปัตย์ มานานแต่การเลือกตั้ง ปี 2562 วิชัย ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่พรรคให้อยู่ในบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 57 พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ที่รอคอย วิชัยหันหลังให้พรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ชนกับบ้านใหญ่ ปิตุเตชะ ที่ส่ง ฉัตรชัย ปิตุเตชะ อดีตเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง ลูกชาย ธารา ปิตุเตชะ ลงชิงเก้าอี้ให้ พรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งเขตนี้ ยังมี สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ หรือ ติ๋ว อดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งระยอง เขต 3 พรรคอนาคตใหม่ เคยลงสมัครนายก อบจ.ระยอง ในนามคณะก้าวหน้ามาแล้ว ครั้งนี้ สว่างจิตรก็หวังจะทำให้ก้าวไกลได้ที่นั่ง สส.ในระยอง จึงสู้สุดตัวอีกครั้ง ทำให้เขต5 ยิ่งน่าจับตาไม่แพ้เขตอื่น

เขต 5 สว่างจิตร จากก้าวไกล นำแบบสูสี

จังหวัดสระแก้ว  มี 3 เขต

  • เขต 1       พปชร
  • เขต 2       พปชร
  • เขต 3       พท.

จับตาศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สระแก้ว ปี 2566 ในวันที่ 14 พ.ค.66 ซึ่งเป็นการวัดพลังระหว่าง "กลุ่มบ้านใหญ่เทียนทอง และกลุ่มบ้านใหม่เขาฉกรรจ์" ถือเป็นการชี้ชะตาตระกูลเทียนทองว่า ยังครองใจคนสระแก้วอยู่หรือไม่

สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดสระแก้ว ทั้ง 3 เขต 3 ที่นั่ง มีไทม์ไลน์ การเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตพร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3-7 เม.ย.66 นี้ ในส่วนของจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก

 แยกตัวออกมาก่อตั้งเป็นจังหวัด ลำดับที่ 74 ของประเทศไทย มีทั้งหมด 9 อำเภอ จำนวนประชากร รวมทั้งสิ้น 560,925 คน เป็นชาย 280,017 คน หญิง 280,908 คน อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว จำนวน 104,903 คน รองลงมาได้แก่ อำเภออรัญประเทศ จำนวน 91,035 คน และอำเภอวัฒนานคร จำนวน 82,304 คน

 จังหวัดสระแก้วเป็นอีกจังหวัดที่น่าจับตามองอีกเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมา มีนักการเมืองบ้านใหญ่ ตระกูลเทียนทอง อยู่ในสายการเมืองระดับประเทศและระดับท้องถิ่น นำทัพโดย นายเสนาะ เทียนทอง หรือป๋าเหนาะ ที่ได้ลงเล่นการเมือง โดยพาลูก หลาน กวาดแชมป์ได้เก้าอี้ ส.ส.มาแล้วหลายสมัย จนสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลายยุค และได้ทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีมาครองอีกหลายกระทรวง

แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา บทบาทของบ้านใหญ่เทียนทองถูกแบบออกไปเป็น 2 สาย คือสายป๋าเหนาะ และสายกำนันกี ขวัญเรือน เทียนทอง

ซึ่งทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว ล่าสุดที่ผ่านมา จังหวัดสระแก้ว แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 3 คน โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วย อำเภอเมืองสระแก้ว ,อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวังน้ำเย็น (เฉพาะตำบลทุ่งมหาเจริญ)

มี นายฐานิสร์ เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 1 ,เขตเลือกตั้งที่ 2 อำเภอวัฒนานคร (ยกเว้นตำบลช่องกุ่ม และตำบลแซร์ออ) ,อำเภอคลองหาด ,อำเภอวังสมบูรณ์ ,อำเภอวังน้ำเย็น (ยกเว้นตำบลทุ่งมหาเจริญ) มี นางสาวตรีนุช เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 2

และเขตเลือกตั้งที่ 3 อำเภออรัญประเทศ ,อำเภอตาพระยา, อำเภอโคกสูง, และ อำเภอวัฒนานคร (เฉพาะตำบลช่องกุ่ม และ ตำบลแซร์ออ) มี นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 3

แต่เมื่อวันเวลา 4 ปี ผ่านไปนักการเมืองคนรุ่นใหม่และหน้าใหม่ ต่างก็อยากเข้ามาชิงเก้าอี้ ส.ส. จังหวัดสระแก้ว โดยการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.66 นี้ ก็เกิดกระแสสายน้ำไหลแยก มีผู้สมัครหน้าใหม่ ๆ เข้ามา และคาดว่า จะมีการล้มช้างตัวใหญ่ เห็นได้ชัดเจนจากแชมป์เก่า ซึ่งเป็นทายาทแท้ ๆ ของป๋าเหนาะ อย่าง สรวงค์ เทียนทอง ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งไป เมื่อตอนเลือกตั้งปี 2562

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงถูกจับตามองแบบไม่กะพริบตากันเลยทีเดียว เพราะจะมีหน้าใหม่สายแข็ง ใจถึงพึ่งได้ มีความพร้อมทุกด้าน แห่กันลงชิงตำแหน่ง ส.ส.กันหลายคน หลายเขต เข้มข้นชนิดที่แบบว่า ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ คนที่เคยเป็นส.ส.เดิม จึงพยายามหาลู่ทางโดยยังไม่ประกาศตัวชัดเจนว่าจะลงพรรคไหนในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.สระแก้ว ณ วันนี้ มีแคนดิเดต ประกอบด้วย นางขวัญเรือน เทียนทอง อดีตนายก อบจ.สระแก้ว ซึ่งลาออกจากตำแหน่งเพราะแรงกดดันเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นมารดาของ ส.ส.ทั้งเขต 1 และเขต 2 เป็นน้องสะใภ้ของนายเสนาะ เทียนทอง เปลี่ยนเส้นทางมาลงเล่นการเมืองระดับประเทศและเปิดตัวในนามพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันก่อน ลงสมัคร ส.ส.สระแก้ว เขต 1 แทนลูกชาย นายฐานิสร์ เทียนทอง อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กระโดดจากเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระแก้ว ไปเล่นการเมืองท้องถิ่น ลงรับสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว แทนมารดา ปัจจุบันชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยนางขวัญเรือน จะมีคู่แข่งสำคัญคือ นางดรุณี พูนประสิทธิ์ หรือ สจ.เปิ้ล และ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ที่หันมาเล่นการเมืองระดับประเทศเช่นกัน เข้าสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ชูคำเด็ดคือ พูดแล้วทำ, เราจะไปด้วยกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ นางดรุณี พูนประสิทธิ์ เป็นลูกสาวของนายวิชัย งามสุคนธ์รัตนา หรือกำนันตัน อดีตกำนันตำบลเขาฉกรรจ์ ซึ่งเป็นเสาหลักสำหรับนักการเมืองในท้องถิ่นมายาวนาน ยังเป็นหลานสาวของ นายวิโรจน์ งามสุคนธ์รัตนา อดีตรองนายก อบจ.สระแก้ว เป็นหลานสาวของ น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขตคลองเตย-วัฒนา กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันกระโดดหนีจาก พปชร. ไปซบพรรคภูมิใจไทย สวมเสื้ออยู่กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล แล้วยังเป็นคนเชื่อมพาหลานเปิ้ลไปอยู่กับเสี่ยหนู โดยมีสามีคือ พล.อ.ศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก, อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, อดีตผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา อยู่ในสายสีเขียวพื้นที่จังหวัดสระแก้วมาตลอดยืนเคียงข้าง มีคนให้ความเคารพนับถือมากเช่นกัน นับว่าเป็นกลุ่มบ้านใหม่เขาฉกรรจ์ ที่มีพลังสูสี ซึ่งประชาชนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงผลักดันให้ลงชิงตำแหน่ง ส.ส.เขต 1 ครั้งนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังต้องพบกับคู่ชิงจากพรรคเพื่อไทย ที่รอบนี้ นายเสนาะ เทียนทอง ได้วางตัวให้ นายกฤษณ สุนทรกิจพาณิชย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเขาฉกรรจ์วิทยาคม สังกัด อบจ.สระแก้ว และอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระแก้ว เข้าลงชิงเก้าอี้ ซึ่งชูสโลแกน ถ้าอยากเห็นอนาคตของลูกหลานเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เลือกเพื่อไทย ทั้งคนทั้งพรรคแบบแลนด์สไลด์ทั้งประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมี น.ส.อารีรัตน์ จันทะสอน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ อีกคนหนึ่งที่อยากเข้ามาแข่งขันในสนามการเมืองระดับชาติอีกหนึ่งคน สำหรับการแข่งขันในพื้นที่เขต 1 รอบนี้ดูเหมือนว่า จะดุดันไม่เกรงใจใคร และน่าจับตามองเข้มข้นห้ามกะพริบตา เพราะว่าแคนดิเดตแต่ละคน มีดีกรีไม่ธรรมดา ต่างคนต่างมีเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดากันทุกคน ก็ต้องไปลุ้นเอาว่า ประชาชนจะรักใครและจะเลือกใครเข้ามานั่งเก้าอี้ ส.ส.และสามารถครองใจประชาชน ระหว่าง บ้านใหญ่, บ้านใหม่ หรือหน้าใหม่

เขต 1 ให้ขวัญเรือน เทียนทอง จากพรรคพลังประชารัฐเป็นต่อ สจ.เปิ้ล ดรุณ พูนประสิทธิ์ จากภูมิใจไทย หลายช่วงตัว

เขตเลือกตั้งที่ 2 ณ วันนี้ยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญและน่าจับตายิ่งนัก แต่เดิมสำหรับเขตเลือกตั้งนี้ มีเพียง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครองแชมป์มาถึง 6 สมัย และการเลือกตั้งครั้งนี้ สุดท้ายก็จะยังสวมเสื้อ พปชร. อยู่กับ “บิ๊กป้อม” เหมือนเดิม

หลังจากพยายามจะย้ายพรรคเพื่อเกาะกระแสพรรคดัง โดยเดินทางไปไกลโพ้น แต่ก็ถูกปฏิเสธ จึงกลับมาเร่งออกงานหาคะแนนเสียง หวังจะนั่งเก้าอี้ ส.ส.เขต 2 ต่อไปอีกสมัย เพราะ ส.ส.เหน่ง ยังเชื่อว่า ตนเองมีฐานเสียงเป็นกลุ่มผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ สามารถกวาดคะแนนจนชนะคู่แข่งมาแล้วหลายสมัย

 แต่การเมืองย่อมต้องมีคู่แข่ง เพราะทีมบ้านใหม่เขาฉกรรจ์ เปิดตัว นายสมบัติ สุริยันต์ หรือ สจ.บัติ เป็นอดีต สจ.ในพื้นที่วังน้ำเย็นมานานถึง 15 ปี เป็นนักธุรกิจใหญ่ ใจถึงพึ่งได้ เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่อย่างดี มีความพร้อมทุกอย่าง อาสากระโดดลงมาลงการเมืองระดับชาติ ในนามพรรคภูมิใจไทย หลัง ส.ส.ในพื้นที่ไม่เห็นมีการพัฒนาอะไรขึ้นมา โดยประกาศพร้อมสู้ 100% เพื่อเปลี่ยนสระแก้วและพัฒนาสระแก้วให้ดีขึ้น

นอกจากนั้น เขต 2 ยังมีผู้สมัครที่น่าจับตาอีกหลายคน โดยเฉพาะส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่า ได้ทำแล้ว ทำอยู่และจะทำต่อไป โดยส่ง นายสุทธิรักษ์ วันเพ็ญ เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 ที่เคยทำคะแนนได้กว่า 2 หมื่นคะแนน ในช่วงที่กระแสคนสระแก้วเบื่อบ้านใหญ่เมื่อหลายปีก่อน

ซึ่งวันนี้เริ่มมีกระแสเกิดขึ้น หลังชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกลอยแพปัญหาหลายเรื่อง จากตัวแทนประชาชนในช่วงที่ผ่านมา และอีกพรรคที่น่าจับตามคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ได้เปิดตัว นายปัญญา ชาติปัญญาวุฒิ อดีตแกนนำเสื้อแดงสระแก้ว ที่หวังจะอาศัยกระแสพรรคและกระแสแลนด์สไลด์ทั้งประเทศ ดึงคะแนนคนเสื้อแดงและนักต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่เขต 2 ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเช่นกัน จึงต้องมาลุ้นกันว่า แกนนำพรรคอย่าง น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๋ง หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะสามารถสร้างกระแสพรรคทำแลนด์สไลด์เลือกทั้งคนทั้งพรรค มาถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน จ.สระแก้วได้หรือไม่ โดยเขตนี้ จะมีผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล นายยุทธชัย รำไพวรรณ์ และพรรคเสรีรวมไทย นางสาวอัคลีมา คลังเพชร มาร่วมแบ่งคะแนนเสียงด้วยเช่นกัน

เขตนี้ ยังให้แชมป์เก่า ตรีนุช เทียนทอง จากพลังประชารัฐนำห่าง

เขตเลือกตั้งที่ 3 พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีช้างรอวันจะชนกันอีกครั้ง ก็คือ นายสรวงศ์ เทียนทอง ทายาทแท้ ๆ ของนายเสนาะ เทียนทอง เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย ก่อนจะพ่ายแพ้ไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว เมื่อครั้งสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและปัจจุบันเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะลงสนามสู้ศึกในพื้นที่เขต 3 ด้วยตนเอง

ซึ่งจะสามารถใช้กระแสแลนด์สไลด์คว้าเก้าอี้กลับมานอนกอดได้หรือเปล่าต้องรอดู เพราะเจ้าของตำแหน่ง ส.ส.สระแก้ว เขต 3 ปัจจุบัน นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ อดีต ส.อบจ.สระแก้ว และเป็นผู้ประกอบการรับเหมาในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ มาหลายสมัย ยังมีน้องชายคือ พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2, อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว อีกด้วย

 ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 4 ปี นายสุรศักดิ์ ยังคงเหนียวแน่กับบิ๊กป้อมและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกเขตที่จะมีการแข่งขันกันแบบเข้มข้น ผลจะเป็นอย่างไรน่าลุ้น แชมป์เก่า ส.บอย จะยึดเก้าอี้กลับมา หรือว่า ส.ศักดิ์ จะครองเก้าอี้ไปนั่งเป็นสมัยที่ 2 ส่วนว่าที่ผู้สมัครพรรคอื่น ๆ ในพื้นที่นี้ ที่มีความชัดเจนและมีการเปิดตัวไปแล้ว อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ ดร.รัตน์นริศ หิรัญธนไชยา ,พรรคก้าวไกล นายปรมินทร์ จันทกาล ,พรรคเสรีรวมไทย นายกีรติ ศิริยามันต์(คลังเพชร) เป็นต้น

โดย จ.สระแก้ว ถือเป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันสูงสำหรับการเลือกตั้ง 2566 ระหว่าง ส.ส.เดิม กับผู้สมัครหน้าใหม่ พรรคการเมืองใหม่ ที่มีฐานเสียงใกล้เคียงสูสีกันมาก

เขตนี้ ยังให้สรวงศ์  เทียนทอง จากเพื่อไทย อาศัยบารมีป๋าเหนาะนำออกไปก่อนในโค้งแรก