ปรากฎการณ์ “ส้มทั่วไทย” พรรคก้าวไกลที่รับไม้ต่อมาจากพรรคอนาคตใหม่ สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส. 151 ที่นั่ง เป็นอันดับหนึ่ง ชัยชนะของ “ก้าวไกล” หลายพื้นสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ก้าวไกลใช้พลังโซเชียล ที่ถนัดไล่ล้ม “บ้านใหญ่” ลงได้หลายพื้นที่ และสร้างแลนด์สไลด์ในกทม. กวาดมาได้ 31 จาก 32 ที่นั่ง และกระแสส้มบนโซเชียล ยังต่อเนื่องไปยังพื้นที่เขตเมืองรอบๆ กทม. และจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีมหาวิทยาลัย
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กูรูด้านดิจิทัลของไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พลังของโซเชียลมีเดีย มีผลต่อผลการเลือกตั้ง 66 ที่ผ่านมา 100% โดยโซเขียลมีเดียการเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร รับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนไทยมากขึ้น สำหรับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งนั้น มีการในใช้โซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางขับเคลื่อนนโยบาย สื่อสารกับผู้ให้การสนับสนุนตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี และเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียล
โดยพรรคก้าวไกลมีทีมงานภายใน (In House) ที่มีการทำงานเป็นระบบ เป็นผู้ประดิษฐ์คำ หรือวลีเด็ด ที่ตรงกับความต้องการคนรุ่นใหม่ แล้วสร้างให้เกิด Snowball Effect เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ผ่านการสนับสนุนของอินฟลูเอนเซอร์ เพจดัง เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เหมือนอดีต
ด้านนางสาวนารีรัตน์ แซ่เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อินไซท์เอรา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Marketing Technology (MarTech) แบบครบวงจร กล่าวว่าต้องบอกว่าการเลือกตั้งรอบนี้เราเห็นการเปลี่ยนแปลง ในแง่ของการสื่อสารนโยบาย หรือว่ารูปแบบการสื่อสารค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารอย่างช่องทางที่เป็นสื่อออนไลน์ จะเห็นว่าถูกนำมาใช้เป็นช่องทางหลักอันดับต้นๆ ในการสื่อสารเลยก็ว่าได้ ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเพราะว่าเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้เยอะ แต่จริงๆแล้วช่องทางอย่างโซเชียลมีเดีย มีประโยชน์ในมุมอื่นๆอีกเยอะ รวมถึงการเอาโซเชียลมีเดียมาใช้ในการทำธุรกิจ หรือมาใช้ในการทำการตลาดออนไลน์กันในทุกวันนี้เลย
ด้วยความที่โซเชียลมีเดียสามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้าง และสามารถนำเสนอเนื้อหาได้แบบรวดเร็ว แถมยังไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวด้วย ผู้สมัครหรือพรรคที่ลงสมัครเองก็สามารถเข้าใจความต้องการ หรือปัญหาที่ประชาชนต้องการจะสื่อสารได้แบบเรียลไทม์เลย หรืออยากจะติดตามนโยบาย กลยุทธ์การสื่อสาร ของผู้สมัครคนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากบนสื่อออนไลน์ ดังนั้นการวางกลยุทธ์หรือการปรับกลยุทธ์ก็ย่อมทำได้รวดเร็วว่องไวและแม่นยำขึ้นกว่าเดิม และด้วยรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายกว่าการติดป้ายหาเสียงที่เป็นภาพนิ่ง แถมยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
และที่น่าสนใจอีกอย่าง คือหลังจากเลือกตั้งแล้ว เชื่อว่าโซเชียลมีเดียก็จะยังคงเป็นช่องทางที่สำคัญในการติดตาม หรือเฝ้าดูการทำงานของผู้ที่ได้รับเลือกจากเสียงของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าถือเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีของคนทำงานเองด้วย ที่จะทำให้เข้าใจถึงความต้องการ ปัญหาหรือแม้กระทั่งผลตอบรับของประชาชน และในทางกลับกัน ก็ยังถือว่าเป็นช่องทางที่สำคัญ ในการสื่อสารกับประชาชนอีกด้วย
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในแวดวงการเมืองไทยกันมากขึ้น ด้วยความที่คนไทยก็ชอบเล่นโซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมากอยู่แล้วด้วย จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มใหญ่เลยก็ว่าได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะคล้ายกับที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวในภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่หันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย การวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เพื่อนำไปวางกลยุทธ์และต่อยอดทางธุรกิจกันอย่างมากมาย ทำให้ปัจจุบันนี้มีเครื่องมือเทคโนโลยีมารองรับ ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น การจะใช้พลังโซเชียลมีเดีย ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการเมืองก็คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ในวันเลือกตั้งและหลังวันเลือกตั้ง 1 วัน คือวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2566 จากทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, TikTok, Pantip, เว็บไซต์ข่าว, และบล็อก พบว่า มีเอ็นเกจเมนต์รวมทั้งสิ้น 83,436,204 เอ็นเกจเมนต์จากมากกว่า 800,000 ข้อความและ 77,000 แอคเคาท์ โดยคำสำคัญ (Keyword) ที่คนพูดถึงมากที่สุด คือคำว่า ‘ก้าวไกล’ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 242,000 ข้อความ รวม 60,000,000 เอ็นเกจเมนต์
ส่วนแฮชแท็กที่มาเป็นอันดับ 1 ก็หนีไม่พ้น #เลือกตั้ง66 ที่ชาวโซเชียลคอยอัปเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการแสดงตนว่าไปเลือกตั้ง เชิญชวนให้คนออกไปเลือกตั้ง ไปจนถึงการไปรอการนับคะแนนในแต่ละหน่วย รองลงมาคือ #ก้าวไกล ตามมาด้วย #เพื่อไทย และ #กกต ตามลำดับ
การพูดถึงในช่องทาง Facebook นำมาเป็นอันดับ 1 ของการพูดถึงทั้งหมด คิดเป็น 80.08% รองลงมาคือ Twitter 11.97% และอื่นๆ 7.95%
พรรคที่เป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียมาเปรียบเทียบภาพรวมการพูดถึงในวันเลือกตั้งและ 1 วันหลังการเลือกตั้ง พบว่า การพูดถึงพรรคก้าวไกลขึ้นเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับการพูดถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ถึง 70%เมื่อมาดูในฝั่งแคนดิเดท พบว่า แคนดิเดทนายกจากพรรคก้าวไกล หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกพูดถึงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับแคนดิเดทท่านอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 24,771,972 เอ็นเกจเมนต์ ตามมาด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (3,711,607 เอ็นเกจเมนต์), พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2,909,850 เอ็นเกจเมนต์), นายอนุทิน ชาญวีรกูล (1,902,822 เอ็นเกจเมนต์), และนายเศรษฐา ทวีสิน (1,575,564 เอ็นเกจเมนต์) ตามลำดับ