ภูมิใจไทย ชูจัดเก็บภาษี "รักบ้านเกิด" อัดแสนล้านให้ท้องถิ่น  

22 มี.ค. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 10:36 น.

ภูมิใจไทย โชว์วิสัยทัศน์ชูจัดเก็บภาษี "รักบ้านเกิด" อัดงบกว่าแสนล้านบ้านกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ ดันแก้กฎหมายอุปสรรคใหญ่ทำท้องถิ่นติดหล่ม

จากงานสัมมนา "ท้องถิ่น มั่งคั่ง ประเทศมั่นคง" จัดโดย เครือเนชั่น ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาล ในช่วงเปิดนโยบายการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้จากตัวแทนพรรคการเมืองร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงของประเทศนั้น 

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวช่วงการแสดงวิสัยทัศน์โดยยืนยันว่า การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญเพราะกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของประเทศไทย ดังนั้น ถ้าท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศก็มีความมั่งคง

แนวความคิดของพรรคภูมิใจไทยกับการกระจายอำนาจนั้น เป็นเรื่องที่ทางพรรคให้ความสำคัญและมีมานานแล้วซึ่งที่ผ่านมามักจะมีเสียงสะท้อนว่า การกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นแบบไม่ 100 % หลายเรื่องพบว่า ถ้าให้คนในชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเองเป็นเรื่องที่ดีแต่เมื่อถึงเวลาการบริหารจัดการบทบาทการตัดสินใจก็ยังไม่ 100 % มีหลายเรื่องที่ยังต้องแก้ไขกันอยู่มีหลายเรื่องที่ยังติดขัดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะตามกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่โดยหลักการ เหล่านี้ต้องมีเครื่องมือ 

ประการแรก คือ เรื่องของอำนาจหน้าที่ และงบประมาณ เรื่องของอำนาจหน้าที่ที่ให้แบบไม่ 100 % มีข้อติดขัดในเรื่องของกฎหมายไม่รองรับ เช่น เรื่องของบุคลากร ยังไม่สามารถทำเองได้ ส่วนกลางเป็นคนจัดการให้ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของพื้่นที่เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกัน ดังนั้น บุคลากรที่จะมาทำงานร่วมกันกับผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องเป็นคนที่เข้าใจบริบทของสังคมและชุมชนนั้น ๆ ด้วย

อีกประการ คือ เรื่องของงบประมาณซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา เป็นสองเรื่องสำคัญที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานี้ที่อยากให้เกิดขึ้นแบบ  100 % ซึ่งเรื่องของอำนาจในการบริหารจัดการตนเองนั้นต้องมีกฎหมายเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานเดินหน้าไปได้ เช่น ถ่ายโอนภารกิจให้ไปแล้วแต่ไม่มีคน ไม่มีงบประมาณให้ หรือกรณีถ่ายโอนภารกิจให้ก็ให้ไม่ทั้งหมด ให้ไม่ครบ

ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของการถ่ายโอนสถานีรถโดยสารที่ให้ท้องถิ่นดูแลแต่ระบบการให้บริการสายทางไม่ได้ให้ไป ล่าสุด คือการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ให้ไปแต่มีปัญหาเรื่องของการรักษา เพราะท้องถิ่นไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ คือ ให้โครงสร้าง ให้ภารกิจไปแต่ไม่มีบุคลากรที่จะไปทำงานได้ รวมถึงกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ้นซึ่งเป็นหน้าที่ของนักการเมืองทุกพรรคที่จะต้องไปดำเนินการแก้ไขต่อไป 

สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไม่สามารถจัดสรรได้ด้วยวิธีการเดียว เพราะงบประมาณแผ่นดินเป็นตัวเลขหลักถ้าประเทศโดยภาพรวมไม่ได้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องลดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราพูดถึงเรื่องของการจัดสรรให้ท้องถิ่น 35 % กันมานานตั้งแต่ปี 2542

ทางพรรคภูมิใจไทยมองถึงเรื่องนี้ที่เราอยากให้ท้องถิ่นมีงบประมาณเป็นของตัวเองมากขึ้นจึงมีกรอบแนวความคิดที่จะให้มีการจัดสรรภาษี "รักบ้านเกิด" ให้กับท้องถิ่น ใครอยู่ที่ไหนสามารถกำหนดภาษีตัวเองประมาณ 30 % ลงไปหรือประมาณแสนกว่าล้านที่จะบริหารจัดการไปให้ ถ้าได้เป็นรัฐบาลเป็นแนวคิดหนึ่งที่ทางพรรคจะขับเคลื่อนทำให้เกิดขึ้นต่อไป