นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการค้าการลงทุน จะเร่งผลักดันนโยบายเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยความเก่ง เร่งหาจุดแข็งอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยต้องเป็น R&D Hub
พร้อมกันนี้สถาบันทางการเงินต้องเข้าส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีกฎหมายรองรับและไม่ขัดต่อกติกาโลก รวมถึงจะต้องเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีต่าง ๆโดยเร็ว เพื่อให้ไทยมีประเทศคู่ค้ามากกว่าเวียดนาม เช่น เอฟทีเอไทย-อียู CPTTP คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ เอฟทีเอไทย-แอฟริกา เป็นต้น
ตั้งเอาท์เล็ต กระจายสินค้าไทยไปนอก
อีกประเด็นที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อส่งเสริมการส่งออก คือการจัดตั้งเอาท์เล็ต หรือ ศูนย์กระจายสินค้า ในตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าไทยในต่างประเทศ
ส่วนการส่งเสริมภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีเป้าหมาย จะยกระดับเทคโนโลยีให้ไทยต้องเป็นศูนย์กลางด้านวิจัยและพัฒนา R&D ของเอเชีย โดยตั้งเป้าหมายลงทุน R&D ให้ขึ้นไปอยุ่ที่ 3% ต่อ GDP ภายใน 4 ปี ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย Big Data, AI, Automation และ Innovation โดยจะมีการจัดกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรม จัดทำ Platform ในแต่ละ Supply chain Technology Transfer และ Gov Tech
นโยบายสร้างคนรับอุตสาหกรรมใหม่
อีกทั้งยังมีนโยบายสร้างกำลังคนในระยะยาว ด้วยนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่ขาดแคลน เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 2567 มี 12 สาขาสำคัญที่ขาดแคลนกำลังคน ประกอบด้วย
ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงทุน
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบายของพรรคที่จะมีการส่งเสริม ประกอบด้วย เกษตรแปรรูปอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารแช่แข็ง อาหาร ยา และเวชสาอาง บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยานยนต์/เรือ ไฟฟ้า โรงไฟฟ้า แสงอาทิตย์ชีวภาพ ชีวมวล และพลังงานลม โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็น EV Global supply chain ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้เพื่อให้การผลักดันนโยบายต่างๆประสบความสำเร็จตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนา กองทุน SMEs 300,000 ล้านบาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการจูงใจทางภาษี Packing credit และ Matching Fund ปรับบทบาทธนาคารรัฐ ธนาคารเฉพาะกิจ เช่น SMEs bank และ EXIM bank เปิดตลาดใหม่โดย FTAs, Mini FTAs และการต่างประเทศเชิงรุก
ลดราคาพลังงาน-แก้ค่าไฟแพง
พร้อมกันนี้ยังมีสิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหา คือการลดราคาพลังงานด้วยการปรับลดค่าการกลั่น กำไรโรงกลั่นต้องลดลง รวมทั้งจะพิจารณาปรับแก้สูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT เพื่อให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าถูกลง ควบคู่กับการลดราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า
สำหรับเรื่องไฟฟ้า พรรคประชาธิปัตย์ ระบุกับฐานเศรฐกิจว่า มีนโยบาย ยกเลิกค่า FT เพราะปัจจุบันการคิดคำนวณค่า FT เป็นสมมุติฐานทั้งสิ้น การทำแบบนี้เป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม พรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง รวมไปถึงจะกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
โดยปัจจุบันการผลิตสำรองอยู่ในระดับสูงกว่า 50% ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ควรอยู่ในระดับ 15% ต้องกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม และทบทวนเรื่องสัญญาสัมปทาน รวมถึงกำหนดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งราคาและรูปแบบสัญญา (PPA) และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
“พรรคประชาธิปัตย์จะยกเลิกค่า FT หลายประเทศส่วนใหญ่ไม่มีค่า FT เพราะมันมีวิธีที่ดีกว่า ไม่ต้องให้ใครก็แล้วแต่มากำหนดราคาค่าไฟ และตอนนี้ FT เป็นการคิดประเมินโดยมองไปในอนาคต 4 เดือน โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟจากเอกชน ประเทศเพื่อนบ้าน สมมติฐานผิด ก็ค่าไฟผิด ทำให้คนเดือดร้อน ค่าไฟเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมไม่ให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เราสามารถใช้ตัวเลขย้อนหลัง 4 เดือน แล้วจะทำระบบกองทุนไว้สำหรับความผันผวนได้” นายเกียรติ กล่าว
ชูนโยบายปรับโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมัน
สำหรับเรื่องน้ำมัน พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดค่าการกลั่น ให้อยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน คือ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมาค่าการกลั่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปี 2552 อยู่ที่ 0.85 บาทต่อลิตร ปี 2554 ขยับขึ้นมาที่ 1.55 บาทต่อลิตร และขึ้นไปสูงสุดที่ 3.65 บาทต่อลิตร ในปี 2565 สูงกว่าค่าการกลั่นอ้างอิงประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 400%
นอกจากนี้ยังต้องกำกับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับ 1.50 บาทต่อลิตร และจะทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม จะทบทวนเงินเข้ากองทุน ทบทวนการคำนวณต้นทุนน้ำมันที่อ้างอิงราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน “ต้องไม่ลืมว่า ทุก 1 บาทต่อลิตร ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรบริษัทน้ำมันสูงขึ้นกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
แก้ปัญหาก๊าซธรรมชาติ
ส่วนก๊าซธรรมชาติ จะมีการเฉลี่ยต้นทุนระหว่างนำเข้ากับแหล่งในประเทศ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม มีการทบทวนค่าผ่านท่อ ปรับสูตรคำนวณและวิธีการกำกับดูแลใหม่ ทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับก๊าซหุงต้ม ต้องมีการตรวจสอบปริมาณการผลิตและใช้ในประเทศจริง
ทบทวนสูตรคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม แก้ปัญหาการลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้าน ทบทวนสัญญาระยะยาวสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนปั๊มก๊าซ LNG / LPG จะทบทวนค่าการตลาดและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรมต่อประชาชน
ขณะเดียวกันจะต้องลดต้นทุนขนส่ง ด้วยการเปลี่ยนระบบการขนส่งหลักมาใช้การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนน เพื่อต้นทุน Logistic ให้เหลือ 7% ของ GDP ใน 4 ปี ด้วยการจัดทำระบบ Feeder lines ลงไปยังจุดต่างๆ ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานระยะยาว หรือลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล
นอกจากนี้จะต้องลดต้นทุนการเงินด้วยการปรับลดส่วนต่างๆอัตราดอกเบี้ยของธนาคารลง เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยปัจจุบันสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก และปรับโครงสร้างภาษีสินค้านำเข้ากึ่งวัตถุดิบให้ประเทศไทยมีต้นทุนภาษีนำเข้าถูกลง