พรรคพลังประชารัฐ ประกาศนโยบายสู้ศึกเลือกตั้ง 2566 ผ่านมาตรการ 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัด พลิกโฉมประเทศไทย เนื้อหาภายในแน่นด้วยนโยบายสารพัด เพื่อมัดใจฐานเสียง แต่ท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดจะทำไปไม่ได้เลย หากไม่มี “กองทุนประชารัฐ” ขนาด 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของผลักดันนโยบายทั้งหมดไปใช้ได้จริง
ฐานเศรษฐกิจ พร้อมทั้งผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อุตตม สาวนายน” ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขยายความ “กองทุนประชารัฐ” จะมีกลไก แนวทาง และผลลัพธ์ จะอย่างไรเกิดขึ้นกับประเทศไทย
หากนโยบายนี้ถูกนำไปใช้เป็นนโยบายจริง ภายใต้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุผลของการใช้กองทุนประชารัฐ
ดร.อุตตม เล่าว่า กองทุนประชารัฐ จะเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนชุดนโยบายทั้งหมดของพรรคให้เดินไปข้างหน้า เน้นการแก้ไขปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งทุนใหม่เข้าไปช่วยเติมให้กับประชาชน พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย จนค่อย ๆ เติบโตเป็นธุรกิจที่มั่นคง เช่นเดียวกับการส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพ มีทุนในการสร้างเนื้อสร้างตัวทำมาหากินประกอบกิจการ
“กองทุนประชารัฐ” จะประเดิมนโยบายแรกด้วยการเติมทุนให้พ่อค้าแม่ค้า ผ่านการจัดสินเชื่อพิเศษสำหรับคนตัวเล็ก วงเงินไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี ผ่อน 7 ปี หรือวันละ 24 บาท เงินก้อนนี้เป็นเงินช่วยการประกอบอาชีพ อย่างแม่ค้าขายขนมจีน สามารถนำเงินทุนก้อนนี้ไปซื้อเครื่องทำขนมจีน เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้ในระยะยาว
ขณะเดียวกันยังพร้อมผลักดันให้ปัญหาหนี้สินของประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทำให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้แบบลูกหนี้จ่ายได้จริงด้วย
“การแก้ปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำในตอนนี้ อย่างบางพรรคบอกมีนโยบายพักหนี้ นโยบายนี้มันไม่ครบ และทั่วถึงทุกราย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า พอหมดเวลาหนี้ก็กลับมาใหม่ ดังนั้นการจะให้เขากลับเข้ามาสู่วงจรเดิม ต้องสร้างรายได้ให้กับเขาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเติมทุนใหม่ให้ไป ซึ่งกลไกกองทุนประชารัฐจะเข้าไปเติมช่องว่างตรงนี้”
เติมทุนสตาร์ทอัพ-พัฒนาย่านทั่วประเทศ
อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถใช้เงินจากกองทุนประชารัฐไปเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองได้ คือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยกลไกของกองทุนพร้อมจัดสรรทุนตั้งต้นให้เอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ สูงสุด รายละ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนา ผู้ประกอบการรายใหม่ เกิดเป็นรากฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขที่ผ่อนคลาย เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น
กลไกอีกอย่างของกองทุนคือ การเข้าไปช่วยสร้างเศรษฐกิจย่านใหม่ทั่วประเทศ โดยจัดงบประมาณ สนับสนุนให้เกิดทำเลค้าขายใหม่ ๆ เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้างย่านละ 50 ล้านบาท เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีย่านเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง ที่นำมาต่อยอดได้ ทั้งด้านวัฒนธรรม ครีเอทีฟ การเกษตร หรือการผลิตอาหาร
ส่วนในต่างจังหวัด นอกจากคัดสรรย่านที่น่าสงเสริมแล้ว ยังสามารถนำกองทุนเข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยให้วิสาหกิจชุมชนมีเงินทุนต่อยอดการทำธุรกิจ หรือเพิ่มเติมทักษะให้กับชาวบ้านในชุมชน ซึ่งกลไกของกองทุนประชารัฐจะเป็นข้อต่อสำคัญของกองทุนหมู่บ้านที่สามารถทำงานควบคู่กันไปได้ และยังจัดสร้างเครือข่ายศูนย์พัฒนาประชารัฐทั่วประเทศ สนับสนุนช่วยการสร้างทักษะการทำมาหากินด้วย
แหล่งเงินของกองทุนประชารัฐ
คิดนโยบายได้แต่ต้องหาเงินเป็นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ “ดร.อุตตม” ระบุว่า กองทุนประชารัฐ มีรูปแบบของการหาเงินมาเติมในกองทุนโดยมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งอาจจะเกลี่ยมาจากงบประมาณในส่วนที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือซ้ำซ้อนมาได้บางส่วน อีกส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อนำเงินมาใส่ไว้ในกองทุน
“เงินกองทุนประชารัฐ 3 แสนล้านบาท จะไม่ได้ใส่เข้ามาในปีเดียว หรือทีเดียวเลย 3 แสนล้านบาท แต่จะใช้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือมากกว่านั้นเล็กน้อยในปีแรก และใช้ตามความจำเป็น มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบโครงการที่เสนอเข้ามาเพื่อให้สามารถใช้เงินได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนจริง ๆ”
วางรากฐานเศรษฐกิจโต 5%
ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ ยอมรับว่า การทำนโยบายด้านเศรษฐกิจต้องทำให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่โตแบบกระท่อนกระแท่น 3 ปีดี อีก 3 ปีแย่ แต่ต้องหาทางผลักดันให้เศรษฐกิจไทยโตตามศักยภาพให้ได้ 5% ผ่านการวางรากฐานใหม่ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนได้ด้วย
“เรื่องสำคัญคือการแก้ปัญหาปากทอง เพราะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ต้องพลิกฟื้นขึ้นมาให้ได้ ผ่านมาตรการ 3 เร่งด่วน 7 เร่งรัดเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย และดึงการลงทุนเพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจ เพราะเมื่อดูข้อเท็จจริงแล้วเงินในโลกนี้ยังมีหมุนอยู่เยอะมาก เงินเหล่านี้ยังหาที่ไปที่ลงอยู่ ประเทศไทยต้องไม่พลาดโอกาสนี้” ดร.อุตตม ทิ้งท้าย