นับถอยหลัง"เลือกตั้ง 2566" ที่จะถึงในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 จำนวนประชากรไทยที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง 2566 ทั่งประเทศ 77 จังหวัด พบว่ามีทั้งสิ้น 52,287,045 คน
ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน และจะต้องไม่ใช่ผู้ที่เคยใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ถึงแม้ว่าในวันเลือกตั้งล่วงหน้า ( 7 พ.ค. 2566 ) จะไม่ได้ไปใช้สิทธิก็ตาม
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- 1. มีสัญชาติไทย หากแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- 2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง ( หมายความรวมคนที่เกิดวันที่ 14 พฤษภาคม 2548 หรือเกิดก่อนหน้านั้น)
- 3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
อีกทั้ง ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเลือกตั้งดังต่อไปนี้ คือ
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช
- ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดผู้มีสิทธิเลือกสมาชิกสมาผู้แทนราษฏร ทางเว็บไซต์ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ( คลิกตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง ) โดยกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดปุ่ม “ตรวจสอบ” จะปรากฏข้อมูลวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566, ชื่อ, เขตเลือกตั้ง, หน่วยเลือกตั้ง, สถานที่เลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีรายชื่อ
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้สิทธิเลือกตั้งได้หรือไม่
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้มีความเสี่ยงสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้เช่นกัน โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- 1. เตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เจลแอลกอฮอล์ ปากกา
- 2. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- 3. หลีกเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะ แนะนำให้เดินเท้าหรือใช้รถยนต์ส่วนตัว
- 4. เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
- 5. เข้าคูหาที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เท่านั้น
- 6. ทำการหย่อนบัตรด้วยตนเอง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่
- 7. เมื่อเสร็จจากการเลือกตั้งกลับที่พักทันที
กรณีผู้ที่เจ็บป่วยและไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
กกต.เปิดช่องทางอุทธรณ์สิทธิ แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผ่าน 2 ขั้นตอน ดังนี้
- 1.ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ส.28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจําตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- 2.ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางอินเทอร์เน็ต
ลงทะเบียนอุทธรณ์สิทธิเลือกตั้ง
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แจ้งช่องทาง การอุทธรณ์ แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าไปลงทะเบียนอุทธรณ์สิทธิเลือกตั้งได้โดยผ่านช่องทางนี้ (คลิกที่นี่ )
ไม่อุทธรณ์เสียสิทธิอะไรบ้าง
หากใครไม่ไปเลือกตั้ง ไปเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ทันเวลา และไม่ได้แจ้งเหตุฯ หรือแจ้งเหตุฯแล้วแต่เหตุนั้นไม่สมควร กฎหมายกําหนดให้เสีย 5 สิทธิ สรุปดังต่อไปนี้
- 1.สิทธิในการยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
- 2.สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- 3.สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้าน
- 4.ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- 5.ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น