“คืนหมาหอน” ศัพท์การเมืองที่มาคู่กับการเลือกตั้งทุกยุคทุกสมัย นับเป็นเกมโกงสุดคลาสสิกที่ไม่มีการตกยุค โดยจะเกิดขึ้นโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งในการเลือกตั้งหนนี้ คืนหมาหอน จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ก่อนถึง วันเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566
ความเป็นมา “คืนหมาหอน” คืออะไร
คำว่า คืนหมาหอน เกิดขึ้นวันเวลาไหนไม่มีใครบัญญัติ เพียงแต่รู้กันว่าเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับช่วงของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน ซึ่งการได้มาซึ่ง ส.ส. บางพรรค บางกลุ่ม ก็เล่นเกมการเมืองสกปรกด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อหวังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง
วันเวลาที่เหมาะเจาะที่สุดและเป็นช่วงโค้งสุดท้ายจริง ๆ คือวันก่อนการเลือกตั้ง 1 วัน ในคืนนั้น บรรดาหัวคะแนนจะเล่นเกมใต้ดินเคาะประตูบ้าน เพื่อเข้าไปแจกเงินซื้อเสียงในยามวิกาล เพราะปลอดผู้คน ไม่เอิกเกริก ทำให้หมาเฝ้าบ้านพากันเห่าหอนกันจนเสียงดังไปทั่ว นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “คืนหมาหอน” ซึ่งกลายเป็นศัพท์ทางการเมืองที่คนรู้จักกันเป็นการทั่วไป
โลกเปลี่ยน "คืนหมาหอน" เปลี่ยนไป
เดิมทีตั้งแต่ครั้งอดีต การหาเสียงในยุคหลายสิบปีมานั้น การหาเสียงและการทุจริตเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงนั้น มักเกิดขึ้นง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน และการแจกเงินก็ต้องแจกให้ถึงมือจริง ๆ นั่นจึงทำให้เกิดคืนหมาหอน และมีคนพบเห็นพฤติกรรมอันน่าสงสัยของการหาเสียงได้ง่าย ๆ แต่ในโลกยุคใหม่คืนหมาหอนอาจใกล้ถึงเวลาปิดตำนานแล้ว
นั่นเพราะปัจจุบันกลายเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี ทั้งการสื่อสาร พูดคุย กลายเป็นอยู่ในโลกดิจิทัล ออนไลน์กันหมด เช่นเดียวกับการทำ "ธุรกรรมทางการเงิน" ผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งถ้ามีการซื้อสิทธิขายเสียงแจกเงินเพื่อหวังผลการเมืองตั้งด้วยวิธีนี้ หมาอาจจะไม่ได้หอนในคืนก่อนวันเลือกตั้งอีกแล้ว แต่ถึงอย่างไรการซื้อสิทธิขายเสียงก็ไม่หายไปจากการเลือกตั้งแน่นอน
กกต.คุมซื้อสิทธิขายเสียง
รัฐบาลประกาศให้ การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งส่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศชาติ โดยการเลือกตั้ง 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดข้อห้ามและข้อพึงระวังในการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ใช่แค่เฉพาะคืนหมาหอนเท่านั้น
โดยกำหนดข้อห้ามสำคัญคือ ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง และห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนน หากฝ่าฝืนจะมะบทลงโทษทางกฎหมายทั้งปรับ และจำคุก แยกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้
บทลงโทษการซื้อเสียงเลือกตั้ง
กฎหมายกำหนดบทลงโทษ ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
ทั้งนี้ผู้แจ้งความนำจับการซื้อเสียง หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา จะได้เงินสินบนนำจับจากจำนวนเงินค่าปรับด้วย โดยศาลจะเป็นผู้สั่งจ่าย
บทลงโทษการขายเสียงเลือกตั้ง
ตามกฎหมายกำหนดห้ามขายเสียง หรือ ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนน ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ทั้งนี้ถ้าผู้ใดแจ้งเบาะแสการซื้อเสียงให้ กกต. จะไม่ต้องรับโทษ และไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้ที่พบเห็นการซื้อเสียง สามารถแจ้งเบาะแสทุจริตการเลือกตั้งผ่านช่องทางนี้ (คลิกแจ้งเบาะแส)