ห้ามโพสต์ผลเลือกตั้ง เลือกพรรค-ส.ส.คนไหน จนกว่าปิดหีบ ฝ่าฝืนโทษหนัก

13 พ.ค. 2566 | 09:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2566 | 09:33 น.

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เตือนชาวโซเชียล หลังกาบัตรเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมือง ส.ส.แล้ว ห้ามโพสต์ จนกว่าปิดหีบ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ฝ่าฝืนโทษหนัก ทั้งจำ ทั้งปรับ

เลือกตั้ง 2566 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งของตนเอง ตั้งแต่เวลา 8.00 - 17.00 น. โดยพึงระวังเรื่องการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่นการซื้อสิทธิขายเสียง การแต่งกายที่มีสัญลักษณ์ของ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง การทำลายบัตรเลือกตั้ง เป็นต้น

คลิกอ่านข่าว : เลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ดู 8 ข้อห้ามทำในวันเลือกตั้ง

ข้อห้าม เลือกตั้ง 2566

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงข้อห้ามกระทำเกี่ยวกับการโพสต์ผ่านโซเชียล ในระหว่างก่อนถึงเวลาปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. ว่า หลังจากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้เข้าคูหา กาบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ห้ามผู้ใช้สิทธิโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ถึงการลงคะแนนของตนเอง โดยระบุถึงพรรคที่เลือก หรือ เบอร์ที่เลือก โดยเด็ดขาด ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษทั้งปรับ และจำคุก

นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง

โดยการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ว่าตนเองได้ไปเลือกพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร คนใดมานั้น จะส่งผลต่อการชี้ชวน หรือชักจูง ให้ผู้อื่นมีการลงคะแนนตามที่ตนเองพึงประสงค์ ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสำนักโพลล์ต่างๆจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดการลงคะแนนเสียง และผลสำรวจได้ หลังเวลาปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

เปิดกฎหมาย พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ผู้ใดเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลการสํารวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการออกเสียง (17.00 น.) ผู้นั้นมีความผิดตามมาตรา 157 มีโทษจําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
  • ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด
  • ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ เว้นแต่เป็นความสามารถของตัวผู้สมัครเอง โดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดงมหรส
  • เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
  • หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

มาตรา 79 กำหนดเกี่ยวกับช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้งว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทําการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือก 1วัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษ จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ