สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ตั้งความหวังรัฐบาลใหม่แก้ 5 โจทย์ SME ไทย

15 พ.ค. 2566 | 02:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 02:40 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ชี้ SME ไทยยังอยู่ยาก-อยู่ลำบาก วอนรัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการ 5 ข้อสร้างความยั่งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก ทั้ง SME เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเติบโตยกแผง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่ SME ต้องการและคาดหวังจากรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ คือรัฐบาลใหม่จะต้องออกแบบนโยบายที่บูรณาการทั้งส่วนของงบประมาณ กำลังคน วิธีการทำงาน และผลลัพธ์หรือตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมและกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งบประมาณจัดสรรที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับภาคเอกชน 
 

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรเอกชนเช่น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย  ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด และเห็นทิศทางที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลง ผ่านมาตราการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SME และ เศรษฐกิจฐานรากไม่ว่าจะเป็น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนสามารถ เติบโตอย่างยั่งยืน ใน 5 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่

1. มาตราการปลุกเศรษฐกิจฐานรากในการสร้างความยั่งยืน  กระจายรายได้สู่ท้องถื่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการ SME เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน  เช่นการทบทวนมาตราการเพิ่มจำนวนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการโยกผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปเป็นเป็นผู้ประกอบการและแรงงานทักษะฝีมือท้องถิ่น และมีค่าแรงสูง

2. การแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ในเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาต้นทุน ปัญหาเรื่องปัจจัยการผลิจ วัตถุดิบต่างๆที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและSME รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างต้นทุน หรือราคาของน้ำมันและไฟฟ้า พลังงานด้วย

 

3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและการแก้หนี้ SME ยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือน  ลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบ

4. มาตรการสร้างคนอย่างสร้างสรรค์ที่ต่อเนื่อง ซึ่งในนานาประเทศการพัฒนาคนถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถ สมรรถนะทักษะให้กับ SME และแรงงานที่ต้องทำควบคู่กันไป รวมถึงเกษตรกรที่จะต้องยกระดับไปเป็นผู้ประกอบการเกษตรยั่งยืนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่มีทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน และทักษะทางดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

และ 5. การแก้กฏระเบียบ ข้อกฏหมายที่เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการและลดต้นทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าสามารถปฏิรูปกฏระเบียบกฏระเบียบต่างๆ ได้จะทำให้หน่วยงานรัฐและเอกชนลดต้นทุนไปได้ปีละกว่า 1.4 แสนล้านบาท

“แต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายและมาตรการที่จะใช้แก้ไขปัญหาทัั้ง 5 เรื่องนี้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำงานในเชิงรุก การบูรณาการและทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคเอกชนและให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อให้จำนวนผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายและมาตรการต่างๆ มีจำนวนมากและรวดเร็วเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก”

นอกจากนี้ในส่วนของงบประมาณเป็นประเด็นที่ควรทำตั้งแต่ต้นทาง โดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำงบประมาณจะต้องมีระบบบล็อกเชนในการเชื่อมโยงกัน และโครงการต่างๆที่มีความซ้ำซ้อนหรือใกล้เคียงกันต้องจับมาซินเนอร์จี้กัน ทั้งตัวชี้วัด กระบวนการ จำนวนคนและงบประมาณ  อย่างมีการบูรณาการ เพื่อให้สามารถใช้เงินน้อยแต่ได้งานมาก

นอกจากนี้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้ SME ไทยเติบโตได้ช้า ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME จำนวนมากที่ประสบปัญหาจากโควิดตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการสร้างความยั่งยืนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจะต้องทำให้ผู้ประกอบการมีวินัยทางการเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความตะหนัก การบ่มเพาะ รวมถึงกฏเกณฑ์ต่างๆ 

เช่นในภาวะปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อของผู้ประกอบการ SME ในระบบธนาคารพานิชย์มีเพียง 20% ของงบประมาณทั้งหมด 17ล้านล้านบาทของธนาคารพานิชย์ ในขณะที่ประเทศต่างๆที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วน สินเชื่อ SME ในระบบธนาคารพานิชย์สูงถึง 50-55% 

“เพราะฉนั้นจะต้องสร้างและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าระบบธนาคารพานิชย์ได้  แต่ในระหว่างนั้นควรมีระบบกองทุนที่มาให้แต้มต่อให้ผู้ประกอบการ SME เพราะการให้ผู้ประกอบการ SME ไปใช้เงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง 20-30% ต่อปี ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม โดยเฉพาะในสภาวะขณะนี้ที่ผู้ประกอบการ SME ยังต้องเผชิฐกับปัญหาเรื่องต้นทุน วัตถุดิบ พลังงาน รวมถึงปัจจัยการผลิตต่างๆที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 

หนึ่งในปัญหาของผู้ประกอบการที่จะเข้าไปถึงการผ่านพิจราณาสินเชื่อของธนาคารพานิชย์มีประเด็นที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็น 1 บางรายเป็น NPL ไปแล้ว  2 เรื่องหลักประกันไม่เพียงพอ 3 ขีดความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอง ดังนั้นควรมีระบบกองทุนที่มาช่วยผู้ประกอบการรายย่อย 2.7 ล้านรายเพื่อไม่ให้ไปใช้ดอกเบี้ยสูง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้มีกำไรที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจและจ้างงานเพิ่มขึ้นการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น และในที่สุดเขาจะสามารถพึงพาตัวเองได้

วันนี้ SME จำนวนมากติดอยู่ใน 2 โซน คืออยู่ยากกับอยู่ลำบาก เราคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจังทั้ง SME วิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรกรก็ตาม เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้และกระจายโอกาสให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างรวดเร็ว”