"สาธิต"ชู "อภิสิทธิ์" นั่งหัวหน้าพรรค เร่งกู้"ปชป."

16 พ.ค. 2566 | 04:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2566 | 04:46 น.

"สาธิต"หนุน"อภิสิทธิ์"เหมาะกลับมานั่งหัวหน้าพรรค เร่งกอบกู้ประชาธิปัตย์ แต่ต้องถกภายในพรรค ยอมรับพ่ายเลือกตั้งหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งประชาชนรู้สึกถูกกดมานาน อยากเปลี่ยนแปลง


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมาน้อยกว่าที่คิด  โดยยอมรับว่าเป็นเสียงของประชาชนที่กำหนดทิศทางประเทศ แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์คงต้องไปนั่งพูดคุยกันว่าจะเดินหน้าทำให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นที่เชื่อใจของประชาชนได้อย่างไรต่อไป 

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข

 ส่วนบทบาทพรรค ปชป.หลังจากนี้  ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ว่าจะกำหนดทิศทาง เป้าหมาย จุดยืน ทางการเมือง อย่างไร เพราะต้องมีการถอดบทเรียนว่าจากการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีหลายกลุ่มที่เป็นทั้งกลุ่มสวิงโหวต กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องสื่อสารให้เข้าถึงเขา ทั้งหมดเป็นมิติการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อไปทางการเมืองหลังจากนี้

“เวลาแพ้สงครามก็ต้องไปรวบรวมไพร่พลที่ยังไม่ตาย หรือได้รับบาดเจ็บเอาไปรักษา และต้องรวบรวมยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด แล้วมาตั้งหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา การทำการเมืองนั้นมีทั้งคนอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง โดยคนที่อยู่ข้างหลังทำหน้าที่เป็นคลังสมองที่อาจไม่ต้องมีบทบาท

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคปชป.

แต่ทั้งหมดร่วมกันทำในเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ที่จริงเราอาจทำตรงนี้อยู่แล้วแต่ประชาชนไม่เห็น หลังจากนี้ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นสถาบันการเมืองแล้วทำประโยชน์ให้ประชาชน” 

ส่วนคนที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค  จะต้องเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้ แต่ก็ต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรค และตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนซึ่งเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์แล้วย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นๆ ควรกลับมาร่วมกันทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทันสมัยและยึดหลักการดุดมการณ์


เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า หลักการของประเทศไม่ใช่แค่ต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนทุกรุ่นมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพียงแต่เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เป็นคนรุ่นเก่ามาอยู่เบื่องหลังเป็นคลังสมองมีประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแหลมคมก็ออกมามีบทบาท แต่ถ้าปล่อยให้คนส่วนนี้ทำอย่างเดียวก็อาจเกิดข้อผิดพลาด

ดังนั้น การทำงานต้องผสานคนทุกรุ่นแล้วนำคนเหล่านี้ไปสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจน แต่การสื่อสารกับประชาชนต้องเข้ากับบริบทนั้นด้วย ดังนั้น พรรคการเมืองต้องมีความเปลี่ยนแปลงความยืดหยุ่น
 

โดยการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเร็วแค่ไหน  ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ภายใน 60 วัน แต่ส่วนตัวอยากให้จัดเร็วที่สุด ก็ต้องไปคุยกันในพรรคอีกครั้ง

เมื่อถามว่า จะเชิญนายอภิสิทธิ์มาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องพูดคุยกับ ส.ส.และคนอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคให้มีความชัดเจน แต่ส่วนตัวคิดว่านายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสม และตอนนี้ในพรรคไม่มีอำนาจเก่า มีแต่อำนาจเริ่มต้นนับหนึ่งที่ทำให้พรรคไปสู่การได้รับการยอมรับจากประชาชน

เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค จะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือไม่ เพราะการเป็น ส.ส.มากับการเป็นหัวหน้าพรรค นายสาธิต กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ตนตอบแทนไม่ได้”