จากกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ถูกยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตรวจสอบถึงลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98(3) เนื่องจากพบว่า นายพิธาถือครองหุ้นไอทีวี(ITV) จำนวน 46,000 หุ้น แต่นายพิธิชี้แจงว่าหุ้นดังกล่าวเป็นมรดกจากบิดา
นำมาสู่การแสดงความคิดเห็นจากนักกฎหมายในหลากหลายมุมมอง นอกจากสถานะเฉพาะตัวของนายพิธาแล้ว ยังมีมุมมองไปถึงการรับรองผู้สมัครส.ส.รายอื่นๆของพรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าพรรคว่า จะทำให้เกิดปัญหาต่อว่าที่ส.ส. 152 คนด้วยหรือไม่
เฟซบุ๊ก อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้โพสต์ ลายแทงเส้นทางของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยชี้ข้อกฎหมายในหลายฉบับ หลายมาตรา ให้กับทีมกฎหมายพรรคก้าวไกล พร้อมระบุช่วยได้แค่นี้ครับ
ลายแทง"พิธา" ดังกล่าว ชี้เส้นทางดังนี้ เปิดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 88 ต่อ ด้วย มาตรา 89 (2) แล้วกระโดดไป มาตรา 160 (6) จากนั้นย้อนกลับไปที่ มาตรา 98(3) กลับไป มาตรา 82 วรรคสี่ หากไม่ได้ผล ยังมี มาตรา 82 วรรคหนึ่งได้อีกรอบ
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด ให้ไป เปิด พ.ร.ป. ส.ส. มาตรา 151 จากนั้น แวะไปดู ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ที่ลงในราชกิจจา 20 สิงหาคม 2563 ข้อ 11(6) กระโดดไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 แล้วย้อนไป มาตรา 9 (3) มัดเข้าไป พร้อมระบุว่า ข้อบังคับพรรคก้าวไกล มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แม้จะประกาศในราชกิจจา 1 มิถุนายน 2566 แต่ก็ให้มีผลตั้งแต่ 28 มกราคม 2566 ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.
ฐานเศรษฐกิจ กางกฎหมายไขลายแทงตามคำชี้แนะ ของนายสมชัย ได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 88 ระบุให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แจ้งบัญชีนายกรัฐมนตรี หรือ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ไม่เกิน 3รายชื่อ หรือจะไม่เสนอแคนดิเดตนายกฯก็ได้
ต่อ ด้วย มาตรา 89 (2) ระบุว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 และไม่เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคอื่น
แล้วกระโดดไป มาตรา 160 (6) ที่ระบุว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม ม.98 ซึ่ง มาตรา 98(3) ระบุว่า ห้ามบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ สมัครเลือกตั้งส.ส.
แล้วกลับไป มาตรา 82 วรรคสี่ ระบุว่า หาก กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของส.ส. หรือส.ว.มีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย
หากไม่ได้ผล ยังมี มาตรา 82 วรรคหนึ่งได้อีกรอบ ซึ่งระบุว่า ให้สิทธิ ส.ส. หรือส.ว. ไม่น้อยกว่า 1ใน10 เท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เข้าชื่อกันร้องต่อประธานสภาของตน เพื่อให้ประธานสภาของตนเอง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลง ตามมาตรา 101 (3) (5-10)(12) หรือมาตรา 111 (3-5) หรือ (7) หรือไม่ ซึ่งกรณีของนายพิธา ตรงกับม.101 (6)
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิด ให้ไป เปิด พ.ร.ป. ส.ส. มาตรา 151 ที่ระบุโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20ปี สำหรับผู้ที่สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม
แต่หากผู้นั้นได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.แล้ว ให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจําตําแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดํารงตําแหน่งดังกล่าว ให้แก่สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
จากนั้นแวะไปดู ข้อบังคับพรรคก้าวไกล ที่ลงในราชกิจจา 20 สิงหาคม 2563 ข้อ 12(6) ที่ระบุถึงลักษณะต้องห้ามของสมาชิกพรรคว่า ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะประกาศในราชกิจจา 1 มิถุนายน 2566 แต่ก็ให้มีผลตั้งแต่ 28 มกราคม 2566 ก่อนวันรับสมัคร ส.ส.
แล้วกระโดดไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 24 ที่ระบุว่า สมาชิกต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กําหนดในข้อบังคับ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ํากว่า 18 ปี และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 9 (1)(3)และ(5)
ซึ่งมาตรา 9 (3) ระบุว่า บุคคลที่ไม่ถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 วงเล็บ 1,2,4,5-11,14,16-18 จำนวน 500คนขึ้นไป และมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน สามารถร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้
จากลายแทงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มาตรา 98(3) ระบุลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครส.ส. และส.ส. เรื่องถือหุ้นสื่อ แต่ไม่ถูกระบุเป็นลักษณะต้องห้ามในการร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองแต่อย่างใด