สภาผู้แทนฯ มีมติเอกฉันท์ให้ "วันนอร์" เป็นประธานสภา

04 ก.ค. 2566 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 03:46 น.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ "วันนอร์" หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานโดยไม่ต้องลงคะแนนลับ

4 กรกฎาคม 2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยได้เข้าระเบียบวาระการเลือกประธานสภาฯ โดยให้ที่ประชุมฯ เสนอชื่อผู้ที่จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ ซึ่งต้องมี ส.ส.ให้การรับรองอย่างน้อย 20 คน

จากนั้นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสนอชื่อ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีผู้ยกมือรับรองเกินกว่า 20 คน ในขณะที่ไม่มี ส.ส.จากพรรคการเมืองใดเสนอรายชื่อบุคคลอื่นเข้าชิงตำแหน่งประธานสภาฯ เพิ่มเติมในครั้งนี้

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้แสดงวิสัยทัศน์สั้นๆ ที่จะทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานสภาฯ อย่างดีที่สุด

ดังนั้น ที่ประชุมสภาฯ จึงเห็นชอบให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนลับ

ประวัตินายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือที่รู้จักเรียกกันว่า "วันนอร์"

เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดยะลา เป็นบุตรของนายเจ๊ะอาแว กับนางแวสะปิเยาะ มะทา เป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน 

การศึกษา

มัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
มัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร 
ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย 
ปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ประวัติการทำงาน นายวันนอร์

  • พ.ศ. 2507 เป็นครูใหญ่โรงเรียนอัตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส
  • พ.ศ. 2512 เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ในปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)
  • พ.ศ. 2518 อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ. 2521 รองอธิการบดี สถาบันราชภัฏสงขลาการเมือง

เส้นทางการเมือง นายวันนอร์

  • พ.ศ. 2522 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดยะลา สมัยแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม
  • พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คลัง
  • พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม
  • พ.ศ. 2527 ได้ร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง "กลุ่มเอกภาพ" (กลุ่มวาดะห์) และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  • พ.ศ. 2531 ได้นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ 
  • พ.ศ. 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับพรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
  • พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)
  • พ.ศ. 2535 ได้นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่ 4 และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่ 5 รวมทั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ 1
  • พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน) การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)
  • พ.ศ. 2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.จังหวัดยะลา สมัยที่ 6 และได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คมนาคม ดูแลการแก้ไขปัญหาการจราจร
  • พ.ศ. 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 7 และได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ/ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 – 27 มิถุนายน 2543) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
  • พ.ศ. 2540 วันที่ 11 ตุลาคม 2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ทูลเกล้าถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวนั้น จึงมีผลให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป
  • พ.ศ. 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 8 พรรคความหวังใหม่ และได้ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม
  • พ.ศ. 2545 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย
  • พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ
  • พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งส.ส.สมัยที่ 9
  • ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13
  • ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และได้เป็นบุคคลที่พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[9]เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563
  • วันนอร์ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อ 2563 ตนเองและคู่สมรสมีทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้น 44,985,766.43 บาท ไม่มีหนี้สิน