วันที่ 4 ก.ค.66 จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย โดยจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป
โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดสมัยประชุม ณ โถงพิธี ชั้น 11 อาคารรัฐสภา ในเวลา 17.00 น. โดยมีสมาชิกและบุคคลสำคัญ เช่น คณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ส.ส. ส.ว. รวม 936 คน ที่จะเข้าร่วมรัฐพิธีในครั้งนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจความเรียบร้อยโดยรอบบริเวณรัฐสภา ขณะที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ประกาศเสียงตามสายให้นำรถออกจากอาคารรัฐสภา ภายใน เวลา 20.00 น วันที่ 30 มิ.ย.66 และไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่ในวันที่ 3 ก.ค.66 รวมถึงสื่อมวลชนด้ว
ส่วนวันที่ 4 ก.ค.66 ซึ่งจะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดเตรียมห้องประชุมไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีการประเมินว่า จะใช้เวลาเพื่อเลือกทั้ง 3 ตำแหน่ง ประมาณ 6 ชั่วโมง หรืออาจเร็วกว่านั้น
ขั้นตอนการเลือก คือ เปิดให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นประธานสภาฯ โดยต้องมีผู้รับรอง 20 คน ก่อนเปิดให้แสดงวิสัยทัศน์ หากที่ประชุมเสนอเพียงชื่อเดียว ก็ไม่ต้องลงคะแนน ถือว่าบุคคลนั้นได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่หากมีการเสนอชื่อแข่ง ก็จะต้องโหวตลงมติ โดยจะให้มีการคัดเลือกกรรมการตรวจนับคะแนน
ส่วนการลงคะแนนจะเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งจะให้สมาชิกมาลงคะแนนครั้งละ 20 คน เรียงตามตัวอักษรโดยไม่มีการประกาศรายชื่อส.ส.ซึ่งสมาชิกลงคะแนนโดยวิธีการลับ เข้าคูหา แล้วเขียนชื่อบุคคล ที่ต้องการเลือก ลงไปในกระดาษแล้วใส่ในซองสีน้ำตาล
ก่อนจะนำใส่ซองไปหย่อนในกล่องใสเมื่อลงคะแนนครบแล้วก็จะทำการตรวจนับคะแนน โดยผลคะแนนจะขึ้นจอทันทีและเมื่อนับคะแนนครบก็จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือก ก่อนจะนำบัตรไปทำลาย ตามข้อบังคับการประชุม ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน
ส่วนความคืบหน้าตำแหน่งประธานสภานั้น เวลานี้ยังไร้ข้อสรุปว่าจะตกไปของผู้ใด หรือพรรคใด โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ค. การประชุมหัวหน้าพรรค และแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ภายหลังการประชุมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุถึงประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า มีการพูดคุยกันเล็กน้อย และทิศทางเป็นไปด้วยดี มีความคืบหน้า บนพื้นฐานที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายงานข่าวกรณีความคืบหน้าตำแหน่งประธานสภา ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตรงกันว่าพรรคเพื่อไทย ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวแล้ว
โดยจะเสนอชื่อคนกลาง คือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) ชิงตำแหน่งประธานสภาฯ
สำหรับการเสนอชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ครั้งนี้ เพื่อเป็นทางออกและได้ข้อยุติ อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวขึ้นอยู่กับที่ประชุม ส.ส.รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่าจะมีมติยืนตามนี้หรือไม่