รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ประเมินไว้แล้วว่า นายพิธามีโอกาสไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสูงถึง 70% เพราะต้องผ่านด่านเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก (ส.ว.)ที่คาดว่าจะไม่เพียงพอ แต่หากผ่านไปได้ก็ยังต้องผ่านด่านที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีถือหุ้นไอทีวีว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่
จากนี้ไปต้องรอดูว่าแนวทางการนำเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้หากถึงที่สุดแล้วนายพิธาไม่ได้รับการสนับสนุน และพรรคเพื่อไทยมีความชอบธรรมได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และหากไปจับขั้วใหม่กับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลเดิม พรรคเพื่อไทย น่าจะเสียคน (เสียพรรค) เพราะยืนยันมาตลอดจะอยู่กับก้าวไกลและอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย
“พรรครัฐบาลขั้วใหม่ คาดจะอยู่ไม่ครบเทอม 4 ปี เพราะสังคมกดดันจากสังคม การยอมรับของสังคมลดลง บวกกับพรรคก้าวไกลหากถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน จะถูกหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมือง และจะมีการประท้วงแน่นอน จะจบด้วยการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ภายใน 1-2 ปี และการเลือกตั้งครั้งหน้า จำนวน ส.ส พรรคเพื่อไทย น่าจะลดลงไปอีก พรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะมี ส.ส.มากกว่าคราวที่แล้ว การตรวจสอบรัฐบาลจะดุดันมากขึ้น ความเห็นใจจากประชาชนต่อพรรคก้าวไกลจะมีมากขึ้นกว่าเดิม”