ตามที่ กกต. ได้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 นั้น
กกต. ขอชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ตามมาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... มีเหตุสิ้นสุดลง... ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย...” การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กกต. ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กล่าวคือ มาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต. เป็นผู้ใช้อำนาจโดยตรง สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ได้
กรณีดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 43 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และ ข้อ 54 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. คนหนึ่งคนใด มีเหตุสิ้นสุดลง กกต. จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือให้ ส.ส. ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ นั้น มารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหา ทั้งสิ้น เพราะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิของตนเองไปชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี ตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วางแนวทางในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว รายละเอียดปรากฏตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
ส่วน ข้อกล่าวอ้างว่า กกต. เร่งรัดพิจารณา และดำเนินการอย่างเร่งรีบไม่ละเอียดรอบคอบ นั้น ขอชี้แจงว่า การดำเนินการของ กกต. เป็นเพียงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพฯ ขอยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบ หรือเร่งรัดที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้ กกต. ได้ใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ แล้ว
ดังนั้น การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เป็นกระบวนการที่ กกต. ปฏิบัติตามมาตรา 82 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ทุกประการ.