โหวตเลือกนายกฯ รอบสอง อีกทีวันไหน หาคำตอบได้ที่นี่

13 ก.ค. 2566 | 20:00 น.

เกาะติดโหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 อีกทีวันไหน อัปเดตขั้นตอนพร้อมวิธีการลงคะแนนกันอีกครั้ง กรณี "ได้-ไม่ได้" นายกรัฐมนตรีจะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป คลิกอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

"ฐานเศรษฐกิจ" เกาะติดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1)เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร หรือการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยโดยนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลตามมติ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ บุคคลที่ถูกเสนอชื่อนั้นต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคการเมืองและต้องมีสมาชิกได้รับเลือกเป็น ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน และเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ปรากฏว่า นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคะแนนเห็นชอบไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ จำนวน 375 เสียง ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงถือว่า มติที่ประชุมไม่เห็นชอบการแต่งตั้ง นายพิธา แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง 

  • เห็นชอบ       จำนวน    324  เสียง
  • ไม่เห็นชอบ   จำนวน    182  เสียง
  • งดออกเสียง  จำนวน    199  เสียง

ดังนั้น ต้องให้มีการประชุมเพื่อลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่รอบที่ 2 ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 นี้ 

ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

1. ส.ส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป

2. การเสนอชื่อต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

3.การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ 

4.ส.ส. 500 เสียง ส.ว.250 เสียง รวมกัน 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไปจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

5.หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

กรณีได้นายกรัฐมนตรี

  • ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไปจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ จากนั้นประธานสภาจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป 

กรณียังไม่ได้นายกรัฐมนตรี

  • หากลงคะแนนแล้วยังไม่มีผู้ใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งประธานจะนัดประชุมสมาชิกรัฐสภาเพื่อโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็น นายกรัฐมนตรี