จากกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ(รธน.)วินิจฉัย ประเด็นการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ว่าด้วยการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาล รธน.ชะลอการเลือกนายกฯ ออกไป จนกว่าการวินิจฉัยจะเสร็จสิ้น
หลังมีมติจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ปรากฏมีนักกฎหมายสะท้อนความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจตีความได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์รายการ "ฐานทอล์ค " ทางเนชั่นทีวี ว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรธน.ตีความ อยู่ในเขตอำนาจของศาล รธน.จะรับมาตีความข้อบังคับรัฐสภาได้หรือไม่นั้นเคยมีคนหยิบยกเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินมาแล้วครั้งหนึ่ง
โดยผู้ตรวจการแผ่นดินเคยพิจารณาว่าการจะยื่นตามมาตรา 213 ว่า มีการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นภายใต้หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นหมวดอื่นไม่ได้
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้สรุปและยื่นศาล รธน.แล้ว แปลว่า ประการแรก ท่านกลับหลักของท่านแล้ว ถ้ากลับหลักยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญ ทางศาลรธน.ก็ต้องวินิจฉัยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลจะไม่สามารถก้าวไปได้หรือไม่
ประการที่ 2 ถือว่าเป็นการกระทำโดยรัฐบาล ซึ่งแยกออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1. การกระทำของคณะรัฐมนตรี อาจจะเป็นในทางระหว่างประเทศ เช่น มีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ 2.เป็นการกระทำโดยการดำเนินการของรัฐบาลต่อรัฐสภา และ 3.เป็นการดำเนินการของรัฐสภาต่อรัฐบาล
ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้ ศาลรธน. วินิจฉัย การเสนอชื่อนายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯรอบสอง เป็นการเสนอญัตติซ้ำหรือไม่ ถือว่า 1.เป็นการกระทำทางนิติบัญญัติ 2. เป็นการกระทำของรัฐสภาต่อรัฐบาล หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐสภาเลือกคนที่จะเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นแบบนี้จะไม่สามารถยื่นได้ หรือ เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาต่อรัฐบาล ซึ่งแปลว่าไม่สามารถยื่นได้
ประการที่ 3 มีอดีตตุลาการศาลรธน.พูดไว้ว่า ในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ในร่างข้อบังคับยื่นให้ศาลรธน. ตรวจสอบได้ เป็นการควบคุมความชอบด้วยรธน.ในเรื่องของร่าง แต่เรื่องของข้อบังคับ เมื่อศาลพิจารณาร่างแล้ว ข้อบังคับต้องปล่อยให้สภาทำงานกันเอง จะไปก้าวล่วงไม่ได้ ถ้ามองในสามลักษณะนี้ แปลว่า ศาลรธน. รับไม่ได้ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินบังคับไม่ได้ ถ้ารับก็พิจารณา หรือถ้าไม่รับก็ตีตกไป
เชื่อศาลรธน.รับตีความหรือไม่ก่อน 27 ก.ค.
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า สมมุตว่า ศาลรธน.รับ ศาลจะพิจารณาได้ 3 ลักษณะคือ ประการแรก เทียบเคียงกับในคราวที่ศาลรับกรณีนายกรัฐมนตรีพารัฐมนตรี ปฏิญาณตนไม่ครบ เมื่อศาลรับไปแล้ววินิจฉัยว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลและรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวกับศาล
ประการที่สอง ศาลรธน.รับไปแล้วบอกว่า ไม่ใช่ญัตติ ให้สภานำกลับไปดำเนินการในลักษณะไม่ใช่ญัตติ เพราะเป็นเรื่องที่ดำเนินการโดยรัฐธรรมนูญ และประการที่สาม เป็นเรื่องญัตติ ก็ให้กลับไปสภา เป็นไปได้ทั้งรับและไม่รับ ต้องวินิจฉัยตาม 3 ข้อดังกล่าว
รศ ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ถ้าศาลรับแล้วบอกไม่ใช่ญัตติ นายพิธา สามารถกลับมาอยู่ในแคนดิเดตนายกฯได้ สภาก็ต้องไปจัดการกันเองว่าจะเลื่อนไปอีก 10 เดือน จะเดินหน้า หรือถอยหลังแบบใด เป็นเรื่องของสภา ศาลไม่มีหน้าที่ไปก้าวล่วงว่าจะทำอะไร แค่บอกว่า มันเป็นญัตติหรือไม่ซึ่งต้องจับตาว่าศาลจะออกมาทิศทางใด
เชื่อว่าศาลจะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับก่อนวันที่ 27 กรกฎาคม นี้ เพราะถ้าศาลไม่พิจารณาภายในวันที่ 27 กรกฎาคม สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นคือ สภาก็เดินหน้าต่อไป แต่กรณีมีการเสนอชื่อนายกฯคนอื่น แต่ไม่ใช่ชื่อนายพิธา ขณะเดียวกันศาลบอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่ญัตติ ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่
เมื่อรับแล้วก็เหมือนกรณีวินิจฉัยว่า นายพิธา ขาดคุณสมบัติส.ส.หรือไม่ แล้วสั่งให้นายพิธาหยุดปฎิบัติหน้าที่ คิดว่าในคราวนี้ถ้าศาลรธน.รับพิจารณา ก็ต้องบอกว่าให้ชะลอการดำเนินการในสภาไว้ก่อน แต่ผลจาการที่ท่านรับมันมีสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปอีก แปลว่า
1.เราเห็นว่า การยื่นของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรธน. เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าศาลรับไว้โดยชอบด้วยรธน. นักกฎหมายจำนวนมากที่บอกว่าต้องยื่นแบบนี้ แสดงว่ายอมรับว่า การกระทำของรัฐสภา ซึ่งอาจจะรวมทั้งการกระทำของรัฐบาลด้วย มันสามารถควบคุมได้ด้วยศาล รธน ท่านต้องยอมรับตรงนี้ ยิ่งถ้าศาลรธน สั่งให้ชะลอไว้ได้ ยิ่งชัดเจนว่าศาลรธน.ควบคุมได้ แสดงว่าเรื่องอื่นๆที่ผ่านสภาก็ไปร้องได้
2. ถ้าศาลรธน วินิจฉัยเป็นประการใด ท่านจะชอบหรือไม่ชอบ จะเป็นไปตามที่ท่านอยากได้หรือไม่ ในเมื่อท่านบอกให้ส่งไปศาล รธน. ท่านก็ต้องยอมรับว่าผูกพันทุกองค์กร จะมาบอกว่า ผูกพันเฉพาะองค์กรของรัฐ ส่วนเอกชน หรือนักกฎหมายไม่เกี่ยว อย่างนี้ไม่ได้
3. ต้องยอมรับว่าตอนนี้ท่านทั้งหลายได้ย้ายตำบลกระสุนตก จากรัฐสภาไปศาล รธน.เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าศาลวินิจฉัยออกมาประการใด ศาลรธน. โดนแน่นอน จะบอกว่าเป็นญัตติหรือไม่ใช่ญัตติก็โดน
4. ต้องทำใจแล้วว่า ท้ายที่สุดจะกลับมาสู่วิถีของสภา เพราะศาลรธน. บอกได้แค่ว่าเป็นญัตติ ก็ต้องเดินตามที่เป็นญัตติ หรือไม่เป็นญัตติก็เดินตามที่ไม่เป็นญัตติ แต่ถ้าศาลรธน. ไม่รับ ท้ายที่สุดต้องกลับมาที่สภา ส่วนจะเลื่อนไม่เลื่อนอยู่ที่สภา จะกลับไปกลับมาที่ศาลรธน. ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็ให้ศาลรธน.ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการไปเลย
ฟันธง เสนอโหวตนายกฯซ้ำ ไม่ใช่ญัตติ
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า เวลาเราจะตีความอะไร แทนที่จะตีความในสิ่งที่เป็นประเด็น เราไปตีความข้ามประเด็น ไปตีตวามข้อ 41 แต่ที่พูดเรื่องนี้ชัดๆอยู่ที่ข้อ 36 ที่บอกว่า ยกเว้นการเลือกนายกฯ ที่เขียนยกเว้นตรงนี้ก็ไม่ชัด ส่วนเป็นญัตติหรือไม่ ถ้าให้ฟันธงเลยผมว่าไม่เป็นญัตติ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นอย่างหนึ่งคือ ต้องไปคิดร่วมกันว่า อะไรก็แล้วแต่ ที่ยื่นต่อศาลเรียกว่าเป็นคำร้องทั้งนั้น
ในสภาก็เหมือนกันอะไรก็ตามที่มีการยื่นในสภาก็เป็นคำร้องทั้งนั้น มันอาจจะเป็นญัตติ หรือคำร้องก็ได้ ขอให้ระวังด้วย แต่ญัตติแต่ละญัตติมีการดำเนินกการต่างกัน คำร้องในศาลก็มีการดำเนินการต่างกัน
“สำหรับผมฟันธงว่า ไม่ใช่ญัตติอย่างที่ที่ความหมายพวกท่านพุดกัน เพราะเป็นเรื่องที่อยากจะเลือกกี่ครั้งก็ว่าไป แต่ใม่ใช่เล่นขายของ ไม่ใช่อยากเลือกกี่ทีกี่ครั้ง เสนออย่างไรก็ไม่ผ่าน แล้วบอกว่า บ้านเมืองรอพิธา ไปอีก 10 เดือน”