2 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ร่วมแถลงผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคการเมือง โดยพรรคก้าวไกล มีมติถอนตัวและให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นแคนดิเดตนายกฯ
พร้อมขอยืนยันชัดเจนว่า เพื่อไทยไม่สนับสนุนแก้ไขมาตรา 122 โดยพรรคก้าวไกลจะไปเป็นฝ่ายค้าน ทั้งนี้ จะได้มีการผลักดันในการแก้ไข รธน. ฉบับปัจจุบันโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก จะเสนอให้มีการตั้ง สสร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พร้อมเดินหน้านโยบายพรรคเพื่อไทยที่มีความสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ปฏิรูปตำรวจ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม ผลักดันกระจายอำนาจ และส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม พร้อมเน้นย้ำว่า แนวทางนี้จะรักษาสถาบันของชาติให้เป็นศุนย์รวมของประชาชนและแก้ไขความขัดแย้งโดยจะใช้ประสบการณ์ความสามารถบุคลกรของพรรคเพื่อไทยในแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนโดยเร็ว
แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการแถลง นายแพทย์ชลน่าน ได้อ่านแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ระบุว่า "เริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ" โดยเนื้อหาระบุว่า
เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้จับมือร่วมกับ พรรคการเมือง อีก 6 พรรค รวมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของคนไทยทั้งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฎเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกลรับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย
จึงเป็นการแน่ชัดว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้นที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และสมาชิก
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ว. และส.ส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็นสมาชิกวุฒิสภาทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 12 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก
ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน " แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชนว่า นี่คือแนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกที่ไม่ปกติให้คืนสู่ความปกติ และใช้ประสบการณ์ และความสามารถของบุคลากรของพรรคเพื่อไทยเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดจากอำนาจประชาชน
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วไป
พรรคเพื่อไทย
2 สิงหาคม 2566