ทวนความจำ "ไล่หนูตีงูเห่า" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

08 ส.ค. 2566 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 09:57 น.

ทวนความจำยุทธการหาเสียง "ไล่หนูตีงูเห่า" ของพรรคเพื่อไทย หลัง "ชลน่าน ศรีแก้ว" แถลงตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคภูมิใจไทย นำโดย "เสี่ยหนู - อนุทิน ชาญวีรกูล" จนเกิดกระแสถล่มพรรคเพื่อไทย ว่าสงสัยลืมไปแล้วกับสิ่งที่เคยหาเสียง

ในการแถลงข่าวร่วมจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคภูมิใจไทย" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่น่าสนใจเมื่อล่าสุดนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้นำประเด็นดังกล่าวร้องกกต.ยุบพรรคเพื่อไทย เพราะมองว่าเป็นหลอกลวง การหาเสียง 

พาย้อนกลับไปในการเลือกตั้งสส.ครั้งล่าสุด ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงอีสานตอนล่างที่จังหวัดศรีสะเกษของพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ระดมนักการเมืองคนสำคัญ ๆ มาอย่างพร้อมหน้า ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงโดยชูสโลแกน "ไล่หนูตีงูเห่า" โดยเปรียบเปรยกรณีที่มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดศรีสะเกษของพรรคเพื่อไทย 3 คน โหวตสวนมติพรรคอยู่หลายครั้งว่าเป็น "งูเห่า" 

ท่ามกลางกระแสข่าวลือหนาหูขณะนั้นว่า สส.ทั้ง 3 รายเตรียมย้ายบ้านใหม่ไปสังกัดกับพรรคภูมิใจไทยที่มีหัวหน้าพรรค ชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "หนู" หรือ เสี่ยหนู คำเรียกขานของบรรดาสื่อมวลชน

ทวนความจำ \"ไล่หนูตีงูเห่า\" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

ยุทธการ "ไล่หนูตีงูเห่า" ของพรรคเพื่อไทยจึงหมายถึง การไล่ นายอนุทิน ไม่ให้มาดึง สส. ของเพื่อไทยไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยอีก มองลึกกว่านั้นอาจกินความไปถึงการไล่พรรคภูมิใจไทยไปจากจังหวัดศรีสะเกษ นั่นเอง โดยพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าต้องการชนะการเลือกตั้งได้สส.แบบยกจังหวัด 9 เขตโดยรวมถึง 3 เขตเดิมของ สส. งูเห่าด้วย  

ในการตั้งเวทีหาเสียงที่ อ.อุทุมพรพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ของนายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า

"...ถ้าที่นี่มีหนูก็คงหนีไป ถ้ามีงูก็คงอกแตกตาย สส. เรา 3 คน ที่พี่น้องเลือกเพราะเขาบอกไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แต่วันดีคืนร้าย พรรคภูมิใจไทยมาตั้งเวที แล้วชวน สส. เพื่อไทยขึ้นเวทีเปิดตัวว่า อยู่ด้วยกันแล้ว แล้วจะเอาที่เหลือไปด้วย แบบนี้ใครเป็นหนู ใครเป็นงูไม่รู้ แต่คนศรีสะเกษเป็นคน คนมันมีศักดิ์ศรี และถ้าเราไปกับเขา เขาจะเอาพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก 4 ปี ดังนั้น เลือกตั้งรอบหน้าต้องรวมพลังกันให้เด็ดขาด..." 

ทวนความจำ \"ไล่หนูตีงูเห่า\" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

คำปราศรัยของนายณัฐวุฒิ ชี้ชัดว่า การจัดกิจกรรม "ไล่หนูตีงูเห่า" ของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้เพื่อขับไล่พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย นายอนุทิน ออกไปจากพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยหวังว่า จะได้รับการเลือกตั้งยกจังหวัด พร้อมกับการประกาศให้ผู้เลือกตั้ง และชาวศรีสะเกษรับรู้ว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 สส.งูเห่าทั้ง 3 คนจะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป เป็นการทำลายความนิยมของ สส. พื้นที่เดิมไปในตัว

จากแคมเปญ "ไล่หนูตีงูเห่า" มีความพยายามให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า เข้าข่ายกระทำผิดมาตรา 65 และ 66 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ ตามปกติประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควรฯ หรือไม่ ซึ่งภายหลัง กกต.ได้ออกมาชี้แจงว่า กิจกรรม "ไล่หนูตีงูเห่า" ไม่ผิดกฎหมายเพียงแต่ให้นับรวมว่า เป็นเงินใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สส. ครั้งหน้า

ทวนความจำ \"ไล่หนูตีงูเห่า\" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

ขณะที่เกิดกระแสตอบโต้อย่างรุนแรงกลับมาจากพรรคภูมิใจไทย โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 "เสี่ยหนู" นายอนุทิน ได้โพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัว พร้อมภาพประกอบระบุว่า 

"คนภูมิใจไทย หัวใจคิดบวก ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาเยือน #ศรีสะเกษยกทีม #พรรคภูมิใจไทย #เลยต้องลุยเอง" และในภาพประกอบปรากฏ สส. ศรีสะเกษ และผู้ที่จะย้ายมาสังกัดเป็นว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ 

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ สส. ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย นายปวีณ แซ่จึง (สามีนางผ่องศรี แซ่จึง สส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย) นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ สส. ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นายธีระ ไตรสรณกุล สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล ทั้งยังปรากฏข้อความในภาพว่า "ไม่มีหนู ไม่มีงูเห่า มีแต่คนบ้านเรา ที่พัฒนา" 

ขณะที่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ได้แสดงความเห็นตอบโต้แคมเปญของพรรคเพื่อไทยว่า ตามปกติแล้วการรณรงค์หาเสียงควรโชว์นโยบายมากกว่าการกล่าวโทษผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของจังหวัดศรีสะเกษ ทั้ง ๆ ที่ผู้มาปราศรัยกลับไม่ใช่คนในพื้นที่แต่อย่างใด 

"ยิ่งคิดชื่อแคมเปญแบบนี้ ผมยิ่งรู้สึกว่า ดูถูกคนที่เค้าอยากพัฒนาบ้านเกิดนะ อุดมการณ์อาจต่างกัน แต่อย่ากล่าวหาว่า คนอุดมการณ์ต่างน่ารังเกียจ"

ก่อนจะมาเป็นแคมเปญ "ไล่หนูตีงูเห่า" ของพรรคเพื่อไทย

หลังการเลือกตั้ง สส. 2562 พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค  ได้สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (136) พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น 

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้ว่า พรรคภูมิใจไทยที่นำโดย "เสี่ยหนู" นายอนุทิน จะมี สส. เป็นอันดับ 5 รองจาก พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคภูมิใจไทยก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการย้ายพรรคของ สส. เข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทยด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น 

สส. พรรคอนาคตใหม่ 9 คน ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค สส. 3 คน จากพรรคพลังประชารัฐ ภายหลังจากถูกขับให้พ้นออกจากสมาชิกพรรค และการลาออกครั้งใหญ่ของ สส. 34 คนจาก 10 พรรคช่วงท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุด 25 เป็นต้น ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็น "พรรคพลังดูด" 

ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านนั้น ต้องเผชิญกับปัญหา สส. โหวตสวนมติพรรคอยู่เป็นระยะ อาทิ 

กรณีฝ่ายค้านเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 44 ช่วงปลายปี 2562 มี สส. 3 รายโหวตสวนมติพรรค 

กรณีมีสส. 2 ราย โหวตไว้วางใจพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 

ในขณะที่ มีสส. 7 ราย ฝ่าฝืนมติพรรค โดย 3 รายไม่เข้าร่วมลงมติ และอีก 4 ราย โหวตสวนมติพรรค ในกรณีลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564

ทวนความจำ \"ไล่หนูตีงูเห่า\" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

ต้นเดือนมิถุนายน 2565 นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยขณะนั้น ได้ออกมาเปิดเผยชื่อ 7 สส. งูเห่า ของพรรคเพื่อไทยที่ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2566 วาระที่หนึ่ง ซึ่งรวมถึง สส. ศรีสะเกษ 3 ราย ได้แก่ นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายธีระ ไตรสรณกุล และนางผ่องศรี แซ่จึง ที่เคยขึ้นเวทีเปิดตัวร่วมกับพรรคภูมิใจไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น พรรคเพื่อไทยเผชิญกับปัญหา "งูเห่า" มาเป็นระยะทั้งยังออกมาให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่า จะลงโทษขั้นรุนแรงกับ "สส.งูเห่า" เหล่านั้นแต่ตลอดวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 พรรคเพื่อไทยได้มีมติขับ สส.จากความเป็นสมาชิกพรรคเพียง 2 รายเท่านั้นซึ่งไม่ได้รวมถึง นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายธีระ ไตรสรณกุล และนางผ่องศรี แซ่จึง แต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยต้องสูญเสียที่นั่ง สส. ไปให้กับพรรคการเมืองอื่นโดยปริยาย 

ศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจึงนำเสนอแคมเปญ "ไล่หนูตีงูเห่า" ทันที โดยต้นเดือนมิถุนายน 2565 กำหนดพื้นที่ปราศรัยในพื้นที่อีสานตอนใต้ พุ่งเป้าที่ไปจังหวัดศรีสะเกษ 3 เขต ซึ่งประกอบด้วย อ.อุทุมพรพิสัย อ.ราษีไศล และอ.ขุนหาญ

พร้อมระดมบุคคลสำคัญและแกนนำของพรรคไปร่วมแคมเปญครั้งนี้ด้วย อาทิ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม

ทวนความจำ \"ไล่หนูตีงูเห่า\" ยุทธการหาเสียงพรรคเพื่อไทย

ถึงวันนี้ ยุทธการ "ไล่หนูตีหูเง่า" ถูกหยิบยกนำกลับมาพูดถึงกันอีกครั้ง เมื่อเหล่าแฟนคลับสาวกของพรรคเพื่อไทยมองว่า ตนถูกหลอกให้เลือก "พรรคเพื่อไทย" เพราะมั่นใจว่า เพื่อไทยจะไม่จับมือกับพรรคภูมิใจไทยจากกลยุทธ์การหาเสียงดังกล่าว ในขณะที่ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามช่วงแถลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ "เสี่ยหนู" นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่นั่งข้าง ๆ ระหว่างการแถลงข่าวว่า 

"..เป็นการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้มาเพื่อคะแนนเสียงของการเลือกตั้ง กิจกรรมแต่ละครั้งจัดบนจุดประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ มิติการเมืองเราไปขอคะแนนเสียงจากประชาชน เราไม่เคยประกาศว่า เราเป็นศัตรูกับใคร เทคนิคการหาเสียง ต่างฝ่ายต่างมี เราไม่เคยคิดว่า เราเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะเพื่อไทยไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร หลังจากยุติการมอบอำนาจจากพี่น้องประชาชนจากการเลือกตั้ง เราก็มาทำหน้าที่จากการมอบอำนาจของประชาชนมา ก็มาร่วมกันทำ" 

ที่มา ข้อมูล สถาบันพระปกเกล้า