“ในแถลงการณ์บอกชัดเจนว่า ไม่มี 2 ลุง แต่ก็ไม่ปฏิเสธเงื่อนไขว่าถ้าจะมี ส.ส.- ส.ว. ลักษณะเป็นบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล เข้ามาสนับสนุนการเลือกนายกฯ เพราะนั่นเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละท่าน
พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องการเสียงจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เราต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย”
นั่นคือประโยคคำพูดตอนหนึ่งของ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่พูดในการแถลงข่าวร่วมกับพรรคภูมิใจไทย ในการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ร่วมแถลงข่าว
สูตรรัฐบาลมีพรรคลุง
การร่วมมือจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” ขณะนี้มีเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว 1 พรรคคือ ภูมิใจไทย 71 เสียง ที่มาจากขั้วรัฐบาลอนุรักษ์นิยม
ส่วนพรรคอื่นที่เข้าร่วมรัฐบาล นอกจาก พรรคประชาชาติ 9 เสียง แล้วยังจะมี พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเล็กอีกราว 6 เสียง เมื่อรวมกับเพื่อไทย ที่มี 141 เสีย รวมแล้วมี 241 เสียง
อีกพรรคหนึ่งที่มีโอกาสที่จะได้รับเชิญเข้าร่วมร่วมรัฐบาลคือ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่มีอยู่ 25 เสียง แต่อาจจะมี 3 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้อาจมีเสียงมาสนับสนุน 22 เสียง
หากรวม ปชป. 22 เสียง ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย มี 263 เสียง
แม้จะเกิน 250 เสียง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะโหวตเลือกตั้งนายกฯ ได้ เพราะต้องได้เสียงเกิน 376 เสียงจาก 2 สภา (ส.ส.+ส.ว.)
ดังนั้น ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องพึ่งส.ส.ของ “พรรคลุง” ซึ่งพรรคที่มีโอกาสสูงจะได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาลคือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มากกว่า รวมไทยสร้างชาติ ของ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหตุที่ไม่เชิญ รวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม ว่ากันว่า เป็นเพราะเป็นพรรคที่มี กปปส. อยู่ร่วมด้วย ซึ่งในอดีตก็รับรู้กันดีว่า กปปส.ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อต้านการนิรโทษกรรมสุดซอย
เมื่อดึง พลังประชารัฐ เข้าร่วม สมมติว่ามากันทั้งพรรค 40 เสียง ก็จะทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” มีส.ส.รวม 303 เสียง ยังขาดอีก 73 เสียง ถึงจะได้ถึง 376 เสียง ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.สายลุงป้อม
เพราะเท่าที่สแกนดู ส.ว.ในสายลุงป้อม มีทั้งในส่วนของเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 6 รวมถึงอดีตบิ๊กเหล่าทัพ ประมาณ 80 คน บวกกับ ส.ว.สาย นักธุรกิจ กลุ่มทุน อีกราว 20-30 เสียง
หากมี “พรรคลุงป้อม” เข้าร่วมรัฐบาล ถึงจะสามารถการันตีได้ ว่าคนที่ “เพื่อไทย” เสนอเป็นนายกฯ ผ่านที่ประชุมรัฐสภาได้แน่
แต่อาจจะมีเงื่อนไขตามมาภายหลังคือ “ลุงป้อม” ไม่ขอรับตำแหน่งใดๆ อาจจะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็น รมต.แทน
สรุปได้ว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” ขาด ส.ส.จาก "พรรคลุง" ไม่ได้ เพราะหากขาดพรรคลุง ก็อาจจะไม่ได้รับเสียงหนุนจาก ส.ว.ในการโหวตสนับสนุนนายกฯ คนที่พรรคเพื่อไทย เสนอนั่นเอง
"ลุงป้อม”รอดูเงื่อนไข พท.
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีการร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า "เขายังไม่ได้ติดต่อมา" และหากมีการติดต่อมาจะไปร่วมรัฐบาลเลยหรือไม่ เพราะเงื่อนไขเหมือนจะไปด้วยกันได้ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า "ก็ต้องดูนะ"
เมื่อถามว่าหากไม่มีการติดต่อมาจะพร้อมเป็นฝ่ายค้านเลยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบคำถาม แต่ร้องว่า "หูย"
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า วันที่ 11 ส.ค. 2566 โดยปกติทุกปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรี อวยพรวันเกิด ซึ่งปีนี้ พล.อ.ประวิตร อายุครบ 78 ปี ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตร เข้าทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี