สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่เริ่มมีความชัดเจน รวมถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 22-24 ส.ค. 2566 พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ทยอยโพสต์นโยบายของพรรคที่จะขับเคลื่อนเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ตั้งแต่นโยบาย Digital wallet 10,000 บาท ,การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และล่าสุด(12 ส.ค. 66) เพจพรรคเพื่อไทยได้โพสต์ข้อความระบุว่า จะดำเนินนโยบายปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าช เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ประชาชนโดยทันทีจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ
ลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าชอย่างไร
สำหรับแนวทางการลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าช ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทย ในนโยบายด้านพลังงานนั้นระบุว่า จะมีการปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ทันทีก๊าซเพื่อลดภาระในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันให้ประชาชน
เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง และสนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เปิดแนวทางดำเนินนโยบาย จากคำสัมภาษณ์
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวถึงปัญหาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น เกิดจากระบบการคิดค่าพร้อมจ่ายในโครงสร้างพลังงาน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องใช้จริง 54%
หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะกระจายออกไปให้ใกล้กับความต้องการ จะสามารถประหยัดในส่วนของ 25% นั้นออกไปได้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และอื่นๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้
ในระยะยาวแหล่งก๊าซธรรมชาติของคนไทย ต้องใช้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ราคาน้ำมันแพง เกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นโครงสร้างที่ใช้มาตั้งแต่ที่ประเทศไทยเปิดให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นไทยออยล์ ที่ขณะนั้นการบวกค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว จึงสามารถดึงค่าขนส่งออกได้
ราคาแก๊สหุงต้ม ปัจจุบันมีการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะบริหารจัดการ โดยนำเอาแก๊สราคาถูกที่ผลิตในประเทศ กับแก๊สราคาแพงจากการนำเข้า มาถัวเฉลี่ยกัน เพื่อให้เกิดราคาที่เหมาะสมต่อพี่น้องประชาชน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ได้ระบุว่า
1. นโยบายที่จะลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า และ ก๊าซหุงต้ม ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยเข้าไปปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างราคาพลังงาน
2. ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นทิศทางของโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าจะขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทยอย่างมาก
3. เร่งเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยอย่างน้อยก็เท่ากับก๊าซที่ขุดจากอ่าวไทย ซึ่งต้นทุนก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
4. ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก โดยลดขั้นตอนขออนุญาต และการขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ กฟผ. รวมทั้งจัดหาแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ที่คุณภาพดีและราคาถูกให้ประชาชน
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาไฟฟ้าในปัจจุบันประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน และค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยค่าไฟฟ้าฐานจะคำนวณมาจากต้นทุนการผลิตจัดหา ส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ทั้ง 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
ส่วนค่า Ft เป็นส่วนที่นำค่าเชื้อเพลิงการผลิต ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่เกิดขึ้นจริง มาปรับปรุงค่าไฟฟ้าฐาน ทุก 4 เดือน
ด้านโครงสร้างราคาน้ำมันประกอบไปด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนอนุรักษ์พลังงาน