ยังคงอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับนโยบาย "แจก 10,000 เข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล" ของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีการตั้งโต๊ะแถลงรายละเอียด และตอบคำถามสื่อมวลชนไปบ้างแล้ว แต่ยังคงมีข้อสงสัยในหลายประเด็น เช่น เงินดิจิทัลนี้ ใช้หน่วยเรียกอย่างไร ,สามารถใช้จ่ายกับอะไรได้บ้าง การคิดภาษีจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย เพื่อลงรายละเอียดเพิ่มเติม จากที่ได้มีการโพสต์ชี้แจงไว้ในเพจ พรรคเพื่อไทย 10 ข้อ (คลิกอ่านข่าว เพื่อไทย แจง 10 ประเด็น “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท")
หน่วยเรียกเงินดิจิทัล และแอปพลิเคชั่นที่ใช้
สำหรับความชัดเจนในเรื่องประเภท และหน่วยเรียกของเงินดิจิทัล รวมถึงแอปพลิเคชั่นสำหรับใช้จ่ายเงินดิจิทัล จากนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” นั้น นายเผ่าภูมิ ระบุว่า
แอปพลิเคชั่นสำหรับใช้จ่ายเงินดิจิทัลในนโยบายนี้ เป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชั่นเดิมที่เคยมีมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปเป๋าตัง หรือโมบายแบงก์กิ้งก็ตาม โดยแอปพลิเคชั่นสำหรับเงินดิจิทัลนี้ ได้มีการศึกษาพัฒนาเอาไว้แล้ว
หน่วยเรียกสำหรับเงินดิจิทัล ที่พรรคเพื่อไทยจะแจก 10,000 นั้น นายเผ่าภูมิยืนยันว่า ไม่ใช่ Central Bank Digital Currency (CBDC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นการแปลงเงินบาทจำนวน 560,000 ล้านบาท เป็นสิทธิ์การใช้เงิน โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain
สำหรับชื่อเรียก หรือหน่วยเรียก จำนวนเงินดิจิทัลตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น นายเผ่าภูมิระบุว่า
ยังไม่มีการระบุสกุล หรือหน่วยที่ใช้เรียกเงินดิจิทัลในขณะนี้ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน จึงระบุเป็นเหรียญ หรือคูปอง เพื่อความเข้าในสิทธิการใช้จ่ายเงินดิจิทัลนั้น ซึ่งในแอปพลิเคชั่น จะเห็นเป็นยอดตัวเลขที่สามารถใช้จ่ายได้อยู่แล้ว
ต้องรอความพร้อม ธปท. หรือไม่
ซึ่งเงินดิจิทัลนี้ มีมูลค่าเทียบเท่ากันกับเงินบาท ไม่สามารถเก็งกำไร หรือสร้างมูลค่าได้เกินไปกว่านั้น โดยเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยนี้ ไม่ต้องรอการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโครงการ CBDC ของธปท.แต่อย่างใด แต่อาจมีการหารือ ธปท. ทั้งนี้เนื่องจากไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ไม่ใช่สื่อกลางการชำระเงินสกุลใหม่ จึงไม่เข้าข่ายข้อห้ามของ ธปท.
แลก "เงินดิจิทัล" กลับมาเป็น "เงินบาท" ได้หรือไม่
นายเผ่าภูมิ ระบุต่อไปว่า เฉพาะร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้น ที่สามารถนำเงินดิจิทัลจากการรับชำระค่าสินค้า และบริการ ไปแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้ และด้วยระบบ Blockchain ทำให้สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะสามารถทราบได้ว่าบริษัท หรือร้านค้ามีรายได้เข้ามาเท่าไหร่จากเงินดิจิทัล โดยที่สรรพากรไม่มีความจำเป็นต้องมาเชื่อมโยงกับระบบดังกล่าว
"เงินดิจิทัล" ชำระหนี้ธนาคาร ได้หรือไม่
สำหรับการนำเงินดิจิทัล ไปชำระหนี้ต่อสถาบันการเงินได้หรือไม่นั้น ยังต้องรอข้อสรุปจากพรรคอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวทั้ง 2มุม เนื่องจากหากนำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน จะทำให้เม็ดเงินไม่มีการหมุนเวียนตามที่ต้องการ
เอาเงินจากที่ไหนมาแจก
560,000 ล้านบาท ที่จะต้องนำไปแปลงเป็นเงินดิจิทัล เพื่อแจกให้กับประชาชนตามนโยบายเพื่อไทยนั้น นายเผ่าภูมิชี้แจงว่า มีที่มาจากรายได้ภาษีตามการคาดการณืสำหรับปีหน้า จำนวน 270,000 ล้านบาท และ รายได้จากภาษีVAT และนิติบุคคลจากโครงการนี้ อีกประมาณ 100,000 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณ ซึ่งประเมิณโดยสำนักงบประมาณ อีกประมาณ 110,000 ล้านบาท จากการตัดงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ การมีเงินดิจิทัล และแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัลนี้ มีเจตนาแรกที่ต้องการให้มีเงินดิจิทัลหมุนเวียนอยู่ในระบบต่อไปเรื่อยๆ แต่คาดว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นครั้งแรกนี้ ในที่สุดเชื่อว่า คนน่าจะนำมาแลกกลับเป็นเงินบาททั้งหมด