ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(16 ส.ค. 66) เวลา 09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมปรึกษาคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรณีรัฐสภา (ผู้ถูกร้อง) มีมติตีความว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตาม ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 สิทธิหรือเสรีภาพ ของผู้ร้องเรียนทั้ง 3 คือ
1.รองศาสตราจารย์ พรชัย เทพปัญญา 2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญส่ง ชเลธร และ 3.นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 23
โดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเรียนที่ 1 และที่ 2 เป็นประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกลซึ่ งมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ร้องเรียนที่ 3 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล
การที่รัฐสภามีมติดังกล่าว ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กำหนดมาตรการ หรือ วิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่าคำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้องและให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับคำขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น จะออกได้ 3 แนวทาง คือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง
2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ
3.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย อันจะส่งผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ให้รัฐสภาลงมติเลือกเป็นนายกฯ ได้เป็นรอบที่ 2
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่จะพิจารณา ประกอบด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาล
2.นายปัญญา อุดชาชน
3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
4.นายจิรนิติ หะวานนท์
5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
7.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
8.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
9.นายนภดล เทพพิทักษ์