รัฐบาลใหม่วุ่น 3 เดือน ยังหานายกฯ ไม่ได้

06 ส.ค. 2566 | 05:57 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 06:08 น.

โรคเลื่อนชี้ชะตา “พิธา” ศาลรธน.นัดให้คำตอบ 16 ส.ค. ส่งผลรัฐบาลใหม่วุ่น ต้องเลื่อนโหวตนายกฯ - เลื่อนเปิดตัวพรรคร่วมรัฐบาล หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66 ล่วงเลยมาแล้วร่วม 3 เดือน

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จบจนถึงปัจจุบัน ล่วงเลยมาแล้วร่วม 3 เดือน แต่ก็ยังหาตัว “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30”  และ “รัฐบาลใหม่” ไม่ได้

และมีแนวโน้มที่การได้ตัวนายกฯ คนใหม่ และ รัฐบาลใหม่ อาจต้องดีเลย์ไปถึงช่วงกลางเดือน หรือ ปลายเดือนสิงหาคมนี้ ก็เป็นไปได้ ซึ่งกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแบบเต็มตัว ก็ต้องรอไปถึงช่วงเดือนกันยายนโน้นเลยทีเดียว

ศาลรธน.เลื่อนถกปม“พิธา”

เดิมตามไทม์ไลน์ วันที่ 4 ส.ค.นี้ ที่ประชุมรัฐสภาน่าจะเดินหน้าโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ แต่ก็มีอันต้องเลื่อนออกไป หลังจาก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 11.31 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภา มีมติตีความว่า การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ขัด หรือ แย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 และเป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้ง 3 คือ 1.รศ.พรชัย เทพปัญญา 2. ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร  และ 3.นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และคณะ  

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวอ้างว่า รศ.พรชัย ผู้ร้องเรียนที่ 1 และที่ ผศ.ดร.บุญส่ง ผู้ร้องเรียนที่ 2 เป็นประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  เป็นบุคคลเพียงรายชื่อเดียวที่พรรคก้าวไกลเสนอชื่อ เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และ นางปัญญารัตน์ และคณะ ผู้ร้องเรียนที่ 3 เป็น ส.ส.พรรคก้าวไกล 

การที่รัฐสภามีมติดังกล่าวละเมิดสิทธิ หรือ เสรีภาพของผู้ร้องเรียนทั้งสาม และขอให้กำหนดมาตรการ หรือ วิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยของศาลฯ โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ศาลฯ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง และ ให้สำนักงานศาลฯศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป 

ส่วนคำขอให้กำหนดมาตรการ หรือ วิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ให้รอสั่งในคราวเดียวกันกับการพิจารณาสั่งคำร้อง ทั้งนี้ ศาลฯ ได้ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุสถานะบุคคลของคณะผู้ร้องเรียนที่ 3 ทุกราย ว่าเป็นประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภา โดยให้ยื่นต่อศาลฯ ภายในวันอังคารที่ 15 ส.ค.66 และให้นัดพิจารณาคำร้องนี้ ในวันพุธที่ 16 ส.ค. 66 เวลา 09.30 น.

                                  รัฐบาลใหม่วุ่น 3 เดือน ยังหานายกฯ ไม่ได้

เลื่อนโหวตนายก 4 ส.ค. ออกไป

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวออกมา ทำให้ เมื่อเวลา 12.20 น. วันเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออกมาเปิดเผยว่า ส่งผลให้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 4 ส.ค. วาระแรกคือ การโหวตเลือกนายกฯ ต้องเลื่อนออกไปก่อน แต่การประชุมรัฐสภายังคงมีอยู่ โดยจะนำระเบียบวาระที่ 2 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ ขึ้นมาพิจารณาแทน

“การโหวตเลือกนายกฯ เราไม่สามารถพิจารณาได้ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือ มีคำสั่งอย่างไรในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ส่วนจะดำเนินอย่างไรต่อต้องรอดูหน้างานวันที่ 16 ส.ค.อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ยังมีเวลาอีกหลายวัน อาจจะมีวาระอื่นของการประชุมรัฐสภาเข้ามาคั่นในระหว่างที่รอวันที่ 16 ส.ค.นี้ ก็ได้” ประธานรัฐสภา กล่าว

ส่วนหากวันที่ 16 ส.ค.นี้ ศาลมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้องดังกล่าว การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ จะดำเนินการได้ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ เลยหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า คงเหมือนในคราวนี้ คือ ศาลฯ รับวินิจฉัยวันที่ 3 ส.ค. เราก็นัดประชุมไว้ล่วงหน้าก่อนในวันที่ 4 ส.ค.

พท.เลื่อนเปิดพรรคร่วม

เมื่อมีการเลื่อนโหวตเลือกนายกฯ ออกไป ทำให้เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 3 ส.ค.2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ช่วงบ่ายวันเดียว ว่า เมื่อประธานรัฐสภาเลื่อนการโหวตนายกฯ เราจึงเลื่อนการแถลงข่าวไปก่อน ส่วนจะแถลงเมื่อใดนั้น คงแถลงใกล้ๆ เวลาโหวตเลือกนายกฯ 

“ระหว่างนี้เราก็จะเดินหน้าประสานงานพรรคต่างๆ เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม เรามั่นใจว่าตอนนี้มีเสียงเพียงพอสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่หากหาเสียงเพิ่มได้อีกยิ่งมากก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เพื่อขับเคลื่อนงานแก้วิกฤติประเทศได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาเช่นนี้ทำให้กังวลหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่กังวล ทุกอย่างให้ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม 

…กระบวนการได้มาซึ่ง นายกฯ คนที่ 30 และ รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพรรรคเพื่อไทย ต้องร้องเพลงรอไปถึงวันที่ 16 ส.ค.นี้ เพื่อรอผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ประธานรัฐสภาจะนัดประชุมโหวตเลือกนายกฯ ต่อไป