มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊คส่วนตัว (18 มิ.ย.2562) เปิดตัวเงินคริปโตสกุลใหม่ ภายใต้ชื่อ “ลิบรา” (Libra) ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินให้กับสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊ค...สื่อโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งานเดือนละเกือบๆ 2,400 ล้านคนทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้อาจจะเข้ามาปฏิวัติระบบการธนาคารของโลกกันเลยทีเดียว เนื่องจากเฟซบุ๊คเองนั้นมีฐานผู้ใช้งานอยู่แล้วหลายพันล้านคน อีกทั้งงานนี้ ซัคเคอร์เบิร์กยังจับมือกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งพันธมิตร 27 รายในหลายประเทศทั่วโลก ก่อตั้ง “สมาคมลิบรา” (Libra Association) ที่จะมีสถานะเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรขึ้นมาเป็นเครือข่ายรองรับ
“พันธกิจของลิบราคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระดับโลกที่มีความเรียบง่าย แต่จะช่วยให้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกมีอำนาจในมือมากขึ้น (ในการจัดการธุรกรรมการเงิน) ระบบของลิบราขับเคลื่อนได้ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน เรามีแผนจะเปิดตัวสมาคมลิบราอย่างเป็นทางการในปี 2020 คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาคมของเราได้ที่ https://libra.org” ซัคเคอร์เบิร์กเกริ่นนำเชิญชวนแฟนเพจขเองเขาทำความรู้จักกับโปรเจคท์ใหม่ล่าสุดนี้ พร้อมให้เหตุผลว่าทำไมต้องมีเงินคริปโตสกุล “ลิบรา”
“ความสามารถในการใช้เงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile money) จะมีผลเชิงบวกที่สำคัญต่อชีวิตของคนเรา เพราะมันทำให้คุณไม่จำเป็นต้องพกเงินสดติดตัวตลอดเวลา ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไหร่ หรือยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเวลาโอนเงิน อำนาจในมือที่ว่านี้ยังมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับคนที่ไม่มีช่องทางเข้าถึงระบบธนาคารหรือบริการทางการเงินในรูปแบบปกติทั่วไป ในโลกทุกวันนี้มีผู้คนประมาณ 1,000 ล้านคนที่ไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารสักบัญชีเดียว แต่มีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง” ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค กล่าวต่อไปว่า เขามีความปรารถนาที่จะทำให้การส่งเงินหรือรับโอนเงินเป็นเรื่องง่ายๆสำหรับทุกคน เอาแบบให้ง่ายเหมือนกับการใช้แอพพลิเคชั่นของเฟซบุ๊คที่ผู้คนสามารถคลิกแชร์ข้อความหรือรูปภาพกันได้อย่างปุบปับฉับไวทันใจ”
+เปิดบริษัทลูก “คาลิบรา” เดินหน้าเต็มตัว
เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลลิบรา เฟซบุ๊คจะเปิดตัวบริษัทลูกที่ดำเนินการเป็นอิสระภายใต้ชื่อ คาลิบรา (Calibra) ขึ้นมาทำหน้าที่สร้างสรรค์บริการ(ทางการเงินดิจิทัล) ให้ผู้ใช้สามารถโอนเงิน ใช้เงิน และออมเงินสกุลลิบรา ประเดิมด้วยบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ที่สามารถใช้งานได้บนแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง WhatsApp และ Messenger จากนั้นในปีหน้า (2563) ก็จะแยกออกมาเป็นแอพพลิเคชั่นเดี่ยวๆเพื่อการใช้งาน การดำเนินงานของคาลิบราจะอยู่ภายใต้กฎกติกาและมีการตรวจสอบดูแลเช่นเดียวกับผู้ให้บริการด้านการชำระเงินรายอื่นๆ นอกจากนี้ ข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ให้ไว้กับคาลิบราจะถูกเก็บแยกส่วนจากข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค
ในช่วงแรกๆ ผู้ใช้บริการของคาลิบราจะสามารถส่งหรือโอนเงินสกุล “ลิบรา” ให้ผู้รับได้อย่างแทบจะไร้ข้อจำกัด ขอเพียงให้มีโทรศัพท์มือถือ โดยอาจจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยมากหรือไม่ต้องเสียเลย แต่ต่อๆไปในอนาคต บริษัทคาดหวังว่า จะสามารถให้บริการที่ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้นสำหรับผู้คนทั่วไปและภาคธุรกิจ เช่น บริการรับชำระค่าใช้จ่ายต่างๆที่สะดวกง่ายดายเพียงแค่กดปุ่มเดียว หรือบริการรับชำระค่ากาแฟด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด จ่ายค่าตั๋วโดยสารรถสาธารณะ เช่นรถเมล์ หรือรถไฟใต้ดิน โดยไม่ต้องพกเงินสด
งานนี้เฟซบุ๊คไม่ได้มาเดี่ยว แต่ชักชวนพันธมิตรมาร่วมสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับระบบและอำนวยความสะดวกให้กับการใช้สกุลเงินลิบรา โดยพันธมิตรเหล่านี้ก็จะร่วมสร้างบริการขึ้นมารองรับการใช้เงินสกุลใหม่ดังกล่าว เอ่ยชื่อมาแต่ละรายนับว่าไม่ธรรมดา เช่นพันธมิตรในแวดวงบริการรับชำระเงิน ได้แก่ มาสเตอร์การ์ด เพย์แพล เพย์ยู สไตรป และวีซ่า ส่วนพันธมิตรในแวดวงธุรกิจบริการยอดนิยม ได้แก่ บุ๊คกิ้งดอตคอม อีเบย์ ฟาร์เฟตช์ ลีฟท์ อูเบอร์ และสปอทติฟาย รวมทั้งพันธมิตรในแวดวงองค์กรเพื่อสังคมไม่แสวงผลกำไร อาทิ Kiva, Mercy Corps และ Women's World Banking ตลอดจนพันธมิตรในแวดวงการเงินดิจิทัล และกองทุนเพื่อการลงทุน “เราหวังว่าจะมีสมาชิกร่วมก่อตั้งจำนวนกว่า 100 รายเมื่อมีการเปิดตัวสมาคมลิบรา (Libra Association)อย่างเป็นทางการในปีหน้า” ซัคเคอร์เบิร์กระบุ “นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่น่าตื่นเต้น ผมหวังว่าจะมีอะไรมาเล่าพวกคุณเพิ่มเติมในเร็วๆนี้”
+ให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัย
ในมุมมองของซัคเคอร์เบิร์ก เขาเชื่อว่าสกุลเงินลิบรา และการทำงานของบริษัท คาลิบรา ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน และทำงานโดยหลากหลายองค์กรที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ถูกควบคุมรวมศูนย์โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จะทำให้ระบบนี้เข้าถึงได้โดยง่าย ขอเพียงสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้บริการของคาลิบราและใช้เงิน “ลิบรา” ได้โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด ขณะเดียวกันก็มีระบบเข้ารหัส (cryptography) เป็นตัวช่วยรับประกันความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจในการใช้เงินดิจิทัล “นี่คือส่วนที่สำคัญในวิสัยทัศน์ของเราเกี่ยวกับแพลตฟอร์มสำหรับชุมชนผู้ใช้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวในระดับสูง นั่นหมายถึงไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามที่คุณอยากทำเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหรือชำระเงินค่าอะไรก็ตาม ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจะอยู่ในทุกๆขั้นตอน”
คาลิบราจะมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงมารวมทีม เพื่อคอยสอดส่องดูแลไม่ให้ผู้ใช้บริการใช้ช่องทางนี้ในการฟอกเงินหรือทำทุจริตอื่นๆ นอกจากนี้ ยังจะมีมาตรการป้องกันการโกง มาตรการชดเชยความสูญเสีย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● ส.ส.สหรัฐฯ ออกโรงสกัดเฟซบุ๊ค คลอดเงินดิจิทัล
● ทั่วโลกจับตา “Libra” อนาคตของสกุลเงินโลก
● ก.ล.ต.ตีตรา‘ลิบรา’ งัดพรก.อุ้มเเบงก์
● ธปท.ชี้ เฟซบุ๊กขอเข้าพบให้ข้อมูล พร้อมตั้งทีมเกาะติด “ลิบรา”