ปี 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเป็นปีแห่งการปรับตัวของบริษัทรถยนต์ และผู้เล่นรายใหญ่หลายรายรวมทั้งเจเนอรัลมอเตอร์ฯ (จีเอ็ม) ฟอร์ด และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานทั่วโลกเพื่อลดต้นทุนนับพันๆ ล้าน แต่นั่นก็หมายถึงการปิดสายการผลิตและปลดคนงานหลายพันคน
มาตรการหลายอย่างที่ดำเนินไปแล้วนั้นเป็นความพยายามที่จะปรับโครงสร้างบริษัทให้สอดคล้องกับกระแสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการรถยนต์ซึ่งทำให้หลายบริษัทมีความจำเป็นต้องทุ่มลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ ท่ามกลางสภาวะของตลาดรถยนต์ที่ทำยอดขายได้แผ่วบางลงในภาพรวม ซํ้าเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตในปีนี้และคาดว่าจะชะลอยาวต่อไปในปีหน้า (2563) ที่กำลังจะมาถึง
เมื่อปี 2552 หรือย้อนไป 10 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่โลกเผชิญวิกฤติการ เงินครั้งใหญ่ ตลาดรถยนต์สหรัฐฯทำยอดขายลดลงมาอยู่ในระดับตํ่ากว่า 11 ล้านคัน ไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์ตกตํ่าเช่นนั้นจะเกิดขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า ปีหน้า (2563) ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีนี้มาอยู่ที่ระดับตํ่ากว่า 17 ล้านคัน ส่วนภาพรวมตลาดรถยนต์โลกในปี 2562 คาดว่า ยอดขายจะลดลงประมาณ 3.1 ล้านคันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะเป็น การลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ปิดโรงงาน-ปลดคนงานยกแผง
ในปี 2562 นี้ จีเอ็มและฟอร์ด ได้ปิดโรงงานหรือประกาศแผนจะปิดโรงงานมากกว่า 12 แห่งทั่วโลก และทำให้ต้องมีการปรับลดจำนวนคนงานหลายพันคน
แมร์รี บาร์รา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีเอ็ม ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อคราวปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งหลายแผนงานมีผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ว่า บริษัทจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์เชิงรุกเพื่อทำให้ผลประกอบการของธุรกิจหลักแข็งแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนในนวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ และสร้างธุรกิจที่มีคุณค่าคุ้มแก่การลงทุนและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนการของจีเอ็มคือการลดจำนวนพนักงานลงราว 14,000 คนทั่วโลก และปิด 7 โรงงาน ในจำนวนนี้ 5 แห่งตั้งอยู่ในอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการปรับปรุงโรงงานที่ปิดไปนี้ 1 แห่งให้ทันสมัย เพื่อเปิดดำเนินการใหม่อีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม มาตรการเหล่านี้จะทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนลงไปได้ถึงปีละ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.8 แสนล้านบาท
ด้านฟอร์ด มีความพยายามปรับโครงสร้างและลดต้นทุนด้วยเช่นกัน นายจิม แฮ็คเก็ตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในปี 2560 เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า บริษัทมีแผนปรับโครงสร้างและลดต้นทุนมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหมายรวมถึงการปิดโรงงานและปลดคนงานด้วย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ฟอร์ดประกาศแผนจะปลดคนงานที่เป็นลูกจ้างประจำจำนวนราว 7,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ 2,300 คนเป็นคนงานในสหรัฐฯ ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน ฟอร์ดประกาศจะทยอยปลดคนงานอีกจำนวน 12,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานในยุโรปที่บริษัทจ้างเป็นกะ แผนดังกล่าวจะดำเนินการตั้งแต่ปีนี้จนถึงสิ้นปีหน้า
ทั้งนี้ ในส่วนของการปิดโรงงานที่ประกาศแล้วในปีนี้ ฟอร์ดจะปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ 1 แห่งในรัฐมิชิแกน และจะปิดหรือขายโรงงานในยุโรป 6 แห่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด 24 แห่ง ผู้บริหารของฟอร์ดในอเมริกาเหนือกล่าวว่า จากสิ่งที่ดำเนินการมาตลอดปีนี้ทำให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีความคล่องแคล่วมากขึ้นและพร้อมแล้วที่จะรับมือกับความเสี่ยงใดๆ ก็ตาม
สำหรับการปรับโครงสร้างของบริษัทรถยนต์รายอื่นๆ ในปี 2562 นี้ยังได้แก่ เดือนพฤศจิกายน บริษัท เดมเลอร์ฯ ผู้ผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประกาศแผนลดจำนวนพนักงานอย่างน้อย 10,000 คนทั่วโลกในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อลดต้นทุน 1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2565
เดือนพฤศจิกายนเช่นกัน บริษัท โฟล์คสวาเกนฯ ผู้ผลิตรถยนต์อาวดี้ ประกาศแผนปลดคนงาน 9,500 ตำแหน่ง หรือ 10.6% ของจำนวนพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลกภายในปี 2568 เพื่อลดต้นทุน 6,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปี โดยจะมีการปลดคนงาน 12,500 คนทั่วโลกภายในปี 2566 และจะลดสายการผลิตลง 10% ส่วน ฮอนด้า บริษัทรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์จะปรับโครงสร้างเช่นกันซึ่งครอบคลุมการปิดโรงงานและปลดพนักงานหลายพันคนในยุโรป
ควบรวมกิจการก็เป็นอีกทางเลือก
ในส่วนของไครสเลอร์ ซึ่งปัจจุบันคือ เฟียต-ไครสเลอร์ ได้เลือกใช้วิธีการผนวกกิจการเพื่อความแข็งแกร่งและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งลงนามในข้อตกลงผนวกกิจการกับ พีเอสเอ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส ทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก
นายไมค์ แมนลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟียต-ไครสเลอร์ และ นายคาร์ลอส ทาวาเรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพีเอสเอ กรุ๊ป แสดงความเชื่อมั่นว่า การรวมพลังกันของทั้ง 2 กลุ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่ ผลประกอบการที่เติบโตอย่างแข็งแรง ที่สำคัญคือการผนวกกิจการครั้งนี้จะทำให้เกิดการลดต้นทุนได้มากถึงปีละ 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงงานเลยแม้แต่แห่งเดียว
หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562