ม็อบที่ทำการประท้วงในสหรัฐ ทวงความเป็นธรรม ให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีเหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิส กำลังแผ่ขยายออกไปในกว่า 30 เมืองใหญ่ของสหรัฐ สถานการณ์ในหลายพื้นที่แปรเปลี่ยนเป็นการจลาจล มีรายงานเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 1 นาย
"ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีวันสงบสุข" เป็นข้อความบนป้ายของผู้ชุมนุมหลายร้อยคนที่มารวมตัวกันในบริเวณสวนสาธารณะลาฟาแยต ด้านนอกทำเนียบขาวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเคลื่อนไหวในสังคมที่กำลังแผ่ขยายวงกว้างอย่างน่ากลัวไปทั่วสหรัฐฯ และเป็นความคุกรุ่นที่เกิดขึ้นใกล้จะครบ 1 สัปดาห์แล้ว
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (26 พ.ค.) ประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงหน้าสถานีตำรวจในเมืองมินนิอาโปลิส มลรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องทวงความยุติธรรมให้กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีที่ตกเป็นเหยื่อคนล่าสุดของการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว เขาเสียชีวิตหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค.
สถานการณ์ประท้วงในวันนั้นปะทุเป็นเหตุรุนแรงจนเกิดจลาจล และมีผู้ฉวยโอกาสวางเพลิง เผารถ ปล้นร้านค้า จนตำรวจต้องตัดสินใจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาสลายฝูงชน แต่แทนที่เหตุการณ์จะจบลง กลับกลายเป็นว่าการประท้วงในมินเนโซตา ได้จุดประกายให้เกิดกระแสการชุมนุมประท้วงทวงความเป็นธรรมและต่อต้านการเหยียดสีผิวภายใต้แฮชแท็ก #JusticeForGeorgeFloyd (ทวงยุติธรรมให้จอร์จ ฟลอยด์) ลุกลามไปในกว่า 30 เมืองของหลายมลรัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา บางแห่งเป็นเพียงการประท้วงอย่างสงบ แต่หลายแห่งก็เต็มไปด้วยความรุนแรงถึงขั้นจลาจล และดูจะไม่จบลงง่าย ๆ
ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือท่าทีและคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขยันโพสต์บนทวิตเตอร์เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น กลับดูเป็นการเหยียดหยันผู้ชุมนุม แบ่งแยก และสนับสนุนการใช้ความรุนแรงโดยผู้มีอำนาจ ยิ่งเป็นเหมือนการสาดน้ำมันลงในกองเพลิง
อ่าน เทย์เลอร์ สวิฟต์ ทวีตเดือด ขู่โหวตไล่ “ทรัมป์” พ้นตำแหน่งพ.ย.นี้
สแกนความโกลาหลทั่วประเทศ
ในเมืองมินนิอาโปลิสซึ่งเป็นเมืองต้นเรื่อง มีการออกคำสั่งเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน ระหว่าง 20.00-6.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) หลังจากที่การประท้วงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องหลายวันและมีการขัดคำสั่งเคอร์ฟิว ทางการประกาศนำกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) จำนวนนับพันนาย เข้ามาสนธิกำลังกับตำรวจเพื่อควบคุมสถานการณ์
ขณะที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน บังคับใช้เคอร์ฟิวเช่นกัน ตั้งแต่ช่วงค่ำวันศุกร์ (เวลาท้องถิ่น) จนถึง 6.00น วันรุ่งขึ้น และจะเริ่มอีกครั้งในคืนวันเสาร์ถึงเช้าวันอาทิตย์ (31 พ.ค.) หลังจากเกิดเหตุประท้วงลุกลามกลายเป็นการจลาจล มีการปล้นสะดมร้านค้า และโจมตีสถานีตำรวจ
นายเท็ด วีลเลอร์ นายกเทศมนตรีเมืองพอร์ตแลนด์ ทวีตว่า “มีการเผาตึกที่มีคนอยู่ข้างใน มีการขโมยของจากธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ การข่มขู่และทำร้ายนักข่าว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดที่ผู้คนต่างพบกับความสูญเสียทุกอย่างอยู่แล้ว นี่จึงไม่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าความหมายในชุมชนของเรา แต่เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง”
วันเดียวกันที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ทางการประกาศภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่ หลังอาคารหลายแห่งถูกผู้ชุมนุมบุกรุกสร้างความเสียหาย รถตำรวจถูกจุดไฟเผา ส่วนที่เขตบรูกลิน รัฐนิวยอร์ก ผู้ประท้วงขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จุดไฟเผาทำลายรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ มีตำรวจบาดเจ็บหลายนาย และมีการจับกุมคนจำนวนมาก
ในเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน มีชายอายุ 19 ปี เสียชีวิตหลังรถยนต์คันหนึ่งพุ่งเข้าใส่ผู้ประท้วง และมีการยิงปืนเข้าใส่ฝูงชน นอกจากนี้ ที่เมืองดัลลัส รัฐเทกซัส เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เมืองอินเดียนาโปลิส รัฐอินเดียนา และเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด มีรายงานข่าวว่า ตำรวจตัดสินใจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมซึ่งขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ ขณะที่ในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งสร้างสิ่งกีดขวางบนถนนหลายสาย
ที่เมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ชุมนุมกว่า 7,500 คนออกมารวมตัวบนท้องถนน บางส่วนฉวยโอกาสสร้างความเสียหายไปทั่ว โดยมีตั้งแต่การบุกรุกอาคาร ขโมยสินค้า จุดไฟเผา และทำร้ายตำรวจ มีรายงานด้วยว่า ตำรวจหน่วยรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลกลาง (Federal Protective Service: FPS) ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันอาคารของรัฐบาล ถูกยิง 2 นาย และหนึ่งในนั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ทำเนียบขาวตึงเครียด-ทรัมป์ซัด “ม็อบจัดตั้ง”
สถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นเช่นกันในกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวง การชุมนุมประท้วงเริ่มตั้งแต่คืนวันศุกร์จนถึงเช้าวันเสาร์ ทำให้ทำเนียบขาวต้องปิดกั้นพื้นที่ห้ามคนเข้า-ออกโดยไม่ได้รับอนุญาต มีรายงานว่า เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมบางส่วนกับเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาประธานาธิบดีที่ตั้งเครื่องกีดขวางบริเวณถนนเพนซิลวาเนีย โดยผู้ชุมนุมพยายามฝ่าเครื่องกีดขวางและปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในชุดป้องกันจลาจล ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้สเปรย์พริกไทเป็นการตอบโต้
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ค.) ระบุว่า “ผู้ชุมนุมเหล่านี้เป็น “กลุ่มจัดตั้ง” ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับนายจอร์จ ฟลอยด์ ช่างน่าเศร้าใจ!” เขายังทวีตชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยอารักขาฯ ที่ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพและยอดเยี่ยมมาก “ผมอยู่ข้างในทำเนียบขาว จับตามองทุก ๆ ความเคลื่อนไหว และรู้สึกปลอดภัยมาก”
ข้อความบนทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งที่กล่าวมาข้างต้น และก่อนหน้านี้ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบตามมา โดยเฉพาะเมื่อเขากล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็น “กลุ่มจัดตั้ง” ที่มารวมตัวกันในนาม “ผู้ประท้วง” เพื่อสร้างความเดือดร้อนเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับนายจอร์จ ฟลอยด์
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิวาทะดุเดือดกับนางมิวเรียล บาวเซอร์ นายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยเขาตำหนิว่าเธอขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ แต่บาวเซอร์ตอกกลับผ่านทวิตเตอร์ว่า ทรัมป์ขลาดกลัวอยู่ภายในรั้วทำเนียบขาว ขณะที่เธอออกมายืนเคียงข้างประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติและแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ
“ดิฉันขอเรียกร้องให้ประชาชนทั้งในวอชิงตันดีซีและทั่วทั้งประเทศ พยายามอดทนอดกลั้นให้ถึงที่สุด แม้ว่าประธานาธิบดีคนนี้จะพยายามทำให้พวกเราแตกแยกก็ตาม พลังของเราสถิตอยู่ในสันติ อยู่ในเสียงของพวกเรา และเหนืออื่นใด พลังนั้นอยู่ในกล่องลงคะแนนเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้” บาวเซอร์ทวีตเมื่อวันเสาร์ (20 พ.ค.)
ต้องมีอีกกี่ “จอร์จ ฟลอยด์”? ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม
เหตุการณ์ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงจับกุมคนผิวสีจนเสียชีวิต ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ผู้คนย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งครั้งนั้นชายผิวสีชื่อนายเอริก การ์เนอร์ วัย 43 ปีเสียชีวิตระหว่างถูกตำรวจเข้าจับกุมและล็อกคอในนครนิวยอร์กด้วยข้อหาจำหน่ายบุหรี่อย่างผิดกฎหมาย ประโยคที่นายการ์เนอร์พร่ำพูดนับสิบครั้งว่า "ผมหายใจไม่ออก" ก่อนเสียชีวิต กลายเป็นถ้อยคำที่ผู้ประท้วงใช้ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ มาจนทุกวันนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจนครนิวยอร์กที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมดังกล่าว ได้ถูกให้ออกจากราชการในอีก 5 ปีให้หลัง ในปี 2561 แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดถูกตั้งข้อหา
สำหรับกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาด้วยข้อหาใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์ปลอมในร้านค้า แถลงการณ์ของตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่พบเขาในสภาพมึนเมา และนั่งอยู่บนรถสีฟ้า ตำรวจสั่งให้ฟลอยด์ออกมาจากรถ แต่เขาขัดขืน ตำรวจจึงใช้กำลังเข้าควบคุมตัวและสวมกุญแจมือ ภาพที่ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกเป็นคลิปวิดีโอความยาว 10 นาทีซึ่งต่อมาถูกเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดทับลำคอของนายฟลอยด์ลงกับพื้นถนน เขาร้องโอดครวญด้วยความเจ็บปวด และพูดว่า "ผมหายใจไม่ออก" และ "อย่าฆ่าผม" หลายครั้ง
มีผู้เห็นเหตุการณ์พยายามเข้าไปพูดกับตำรวจว่าให้ยกเข่าออกจากลำคอของฟลอยด์ เพราะเห็นได้ชัดว่าเขาแน่นิ่งไปแล้ว มีผู้เห็นว่าเลือดไหลออกจากจมูกของเขาด้วย ต่อมาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้นำตัวเขาขึ้นรถพยาบาลไป แต่นายจอร์จ ฟลอยด์ ได้เสียชีวิตลงในที่สุดโดยตำรวจระบุสาเหตุว่า เป็นอุบัติเหตุทางการแพทย์ และเป็นการเสียชีวิตจากการโต้ตอบกับตำรวจ
นายเจค็อบ เฟรย์ นายกเทศมนตรีเมืองมินนิอาโปลิส แถลงการณ์ยืนยันว่า ตำรวจทั้ง 4 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทำให้จอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิต ได้ถูกให้ออกจากราชการแล้ว พร้อมโพสต์ในทวิตเตอร์ระบุว่า ว่า กรณีการจับกุมนายฟลอยด์ เป็นการสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
"ผมเชื่อในสิ่งที่ผมเห็น และสิ่งที่ผมเห็นมันผิดอย่างชัดเจน" เฟรย์กล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ด้านโฆษกของสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ประจำเมืองมินนิอาโปลิสระบุว่า ทิศทางการสอบสวนของเอฟบีไอจะมุ่งไปที่การตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมีเจตนา"ละเมิดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของสหรัฐอเมริกา" หรือไม่ และเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น เอฟบีไอจะนำผลการสอบสวนส่งต่อให้สำนักอัยการรัฐมินเนโซตา เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป
ล่าสุด อดีตนายตำรวจ เดเร็ก ชอวิน (ชายที่ปรากฏในคลิปที่กดเข่าลงบนคอของนายฟลอยด์) ได้ถูกอัยการตั้งข้อหาฆาตกรรมโดยมิได้เจตนา และมีกำหนดขึ้นศาลในวันจันทร์นี้ (1 มิ.ย.)