เฟซบุ๊ก ประเดิมเปิดตัว บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน "วอทส์แอป เพย์" (WhatsApp Pay) ในบราซิลเป็นประเทศแรกในโลก ก่อนปูพรมในตลาดประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย และเม็กซิโก หวังเชื่อมโยงโลกของโซเชียลมีเดียเข้ากับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่เข้าถึงได้ง่าย เชื่อถือได้ และปลอดภัย
นายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Mark Zuckerberg วานนี้ (15 มิ.ย.) เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กได้เริ่มเปิดตัวบริการชำระเงินสำหรับผู้ที่ใช้แอปพลิเคชัน WhatsApp ในประเทศบราซิลแล้ว เพื่อช่วยให้การส่งเงินและการรับเงินเงินนั้น เป็นเรื่องง่ายพอ ๆ กับการแชร์ภาพบนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ บริการของเขายังช่วยผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถขายสินค้าบนแอป WhatsApp ด้วย
“เราทำเช่นนี้ได้ด้วยการต่อยอดบริการเฟซบุ๊ก เพย์ (Facebook Pay) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานมีช่องทางที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้เสมอในการชำระเงินผ่านแอปต่าง ๆ ของเรา ผมขอขอบคุณพันธมิตรร่วมโครงการของเราทุกฝ่ายที่ทำให้สิ่งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้” ส่วนหนึ่งของข้อความบนเพจของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กระบุ เขายังเผยด้วยว่า พันธมิตรร่วมโครงการนั้นได้แก่ ธนาคารท้องถิ่นในบราซิล อาทิ ธนาคารแบงโค ดู บราซิล ธนาคารนูแบงก์ ธนาคารซิเครดี รวมทั้งบริษัท ซิเอโล ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินรายใหญ่ในบราซิล
ทั้งนี้ บราซิลเป็นประเทศแรกในโลกที่เฟซบุ๊กเปิดตัวบริการชำระเงินสำหรับผู้ใช้แอป WhatsApp บนโทรศัพท์มือถือ ซัคเคอร์เบิร์กทิ้งท้ายว่า กำลังจะเปิดบริการตามมาในอีกหลายประเทศในเร็ว ๆนี้
สื่อต่างประเทศรายงานว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการบุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาและนำแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กเข้าเชื่อมโยงกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ การเปิดตัวระบบชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp ในตลาดบราซิลเท่ากับเป็นการพยายามเข้าถึงผู้ใช้งาน WhatsApp จำนวน 120 ล้านคนในประเทศบราซิล
WhatsApp (วอทส์แอป) ซึ่งเป็นแอปรับส่งข้อความฟรีสำหรับสมาร์ทโฟน ถูกเฟซบุ๊กซื้อกิจการมาในปี 2557 บริการที่เปิดตัวเมื่อวันจันทร์ (15 มิ.ย.) มีชื่อเรียกว่า วอทส์แอป เพย์ (WhatsApp Pay) เปิดช่องให้ผู้ใช้แอปสามารถรับส่งเงินให้บุคคลอื่นที่เป็นผู้ใช้ WhatsApp เหมือนกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมทั้งสามารถซื้อขายสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า นอกจากบราซิลแล้ว เขายังสนใจที่จะให้บริการชำระเงินดังกล่าวในประเทศเม็กซิโก อินโดนีเซีย และอินเดีย ด้วย
ผู้บริหารของวอทส์แอปให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บราซิลเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับสองรองจากอินเดียที่บริษัทมีแผนจะให้บริการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเช่นกัน แต่ก็ติดขัดอุปสรรคด้านกฎระเบียบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “การทำให้วิธีการชำระเงินเป็นเรื่องง่าย จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมากขึ้นสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับการเติบโต นอกจากนี้ ยังทำให้การโอนเงินหรือรับ-ส่งเงินระหว่างบุคคลเป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการส่งข้อความผ่านโทรมือถือ เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะในปัจจุบัน คนเราก็เว้นระยะห่างกันทางกายมากพออยู่แล้ว”
นักวิเคราะห์มองว่า บริการดังกล่าวเป็นความพยายามของเฟซบุ๊กที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มที่บริษัทมีอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งบริการใหม่นี้จะทำให้บริษัทสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้ใช้แอป และแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในสังเวียนอี-คอมเมิร์ซอย่างแอมะซอน
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กชิมลางในตลาดบริการชำระเงินด้วยบริการ “เฟซบุ๊ก เพย์” ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกับ “วอทส์แอป เพย์” แต่ให้บริการอยู่บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กและแอปเมสเซนเจอร์ (Messenger) นอกจากนี้ เมื่อเดือนพ.ค. บริษัทยังเปิดตัวแอปพลิเคชัน “เฟซบุ๊ก ช็อปส์” (Facebook Shops) ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถเปิดหน้าร้านออนไลน์ขายสินค้าบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม ซึ่งธุรกิจใหม่นี้มีผู้คาดหมายว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ตัวเลขประมาณการณ์ของธนาคารดอยช์ แบงก์)
สำหรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น แอปพลิเคชัน “วอทส์แอป เพย์” เปิดช่องให้ผู้ใช้สามารถตอบคำถามของลูกค้าและอัพโหลดแคตตาล็อกสินค้า บริษัทจะคิดค่าธรรมเนียม 3.99% จากผู้ขายเมื่อได้รับการชำระเงินจากผู้ซื้อ ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกันกับอัตราที่บริษัทบัตรเครดิตคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ขาย
การขยายบริการในประเทศอื่น ๆนอกเหนือจากบราซิลเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กพยายามปูทางเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ประกาศทุ่มทุน 5,700 ล้านดอลลาร์ ซื้อหุ้น 10% ในบริษัทรีไลแอนซ์ จิโอ (Reliance Jio) ซึ่งเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมของอินเดีย เพื่อร่วมกันปลุกปั้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในอินเดียผ่านแพลตฟอร์มของ “จิโอมาร์ท” (JioMart)ที่มีอยู่
ส่วนที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเข้าไปซื้อหุ้นบริษัท โกเจ๊ก (Gojek) สตาร์ทอัพดาวรุ่งรายใหญ่ที่สุดที่ให้บริการรถรับ-ส่งผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ เพื่อที่จะได้ธุรกิจการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลของโกเจ็คที่มีชื่อว่า “โกเพย์” (GoPay)
ข้อมูลอ้างอิง Facebook launches WhatsApp-based digital payments service in Brazil