ฟิลิปปินส์เปิดไต่สวนเซฟการ์ดเหล็ก ล็อกเป้าสินค้าจีน-ไทยรอด

01 ก.ค. 2563 | 11:17 น.

ฟิลิปปินส์เปิดไต่สวนเซฟการ์ดกลุ่มสินค้าเหล็กรวดเดียว 3 กรณี ตามคำขอของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เล็งเป้าสินค้าจีนยึดตลาดกว่า 90% ของการนำเข้า ไทยรอดตัวไม่ได้อยู่ในกลุ่มหลัก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รายงานอ้างอิงข้อมูลจากสื่อในฟิลิปปินส์ ว่า ฟิลิปปินส์แจ้งรายงานต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ ปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือมาตรการ Safeguard : SG สำหรับกลุ่มสินค้าเหล็กต่าง ๆ ในคราวเดียวรวม 3 กรณี

 

ทั้งนี้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ได้ประกาศเปิดการไต่สวนเบื้องต้น (Preliminary Investigation) เพื่อใช้มาตรการ Safeguard จำนวน 3 กรณี สำหรับสินค้า Aluminum Zincs (GL) Sheets, coils and Strips สินค้า Galvanized iron (GI) sheets, coils and strips และสินค้า Prepainted galvanized iron (PPGI) and prepainted aluminum Zinc (PPGL) เนื่องจากพบว่าคำขอเปิดการไต่สวนดังกล่าวมีมูล (Prima Facie) โดยได้รายงานการเปิดการไต่สวนทั้ง 3 กรณีดังกล่าวต่อ WTO เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563

 

การเปิดไต่สวนดังกล่าวเป็นไปตามคำขอของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศฟิลิปปินส์ที่อ้างว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยบริษัท Sonic Steel Industries, Inc. เป็นผู้ยื่นค าขอสำหรับสินค้า GL บริษัท Puyat Steel Corporation เป็นผู้ยื่นคำขอสำหรับสินค้า GI และสินค้า PPGI และ PPGL เป็นการยื่นคำขอร่วมกันของ บริษัท Sonic Steel Industries, Inc. และบริษัท Puyat Steel Corporation ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติมาตรการปกป้อง (Safeguard) หรือ Republic Act 8800 ของฟิลิปปินส์ อนุญาตให้รัฐบาลสามารถกำหนดหรือเรียกเก็บอากรนำเข้าเพิ่มขึ้น กรณีที่พบว่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวก่อให้เกิดหรือส่งผลกระทบความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ

 

 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ ระบุเพิ่มเติมว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้า Aluminum Zinc (GL) มีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 770 ตัน ในปี 2557 เป็น 98,386 ตัน ในปี 2559 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 125,933 ตัน ในปี 2561 สำหรับในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย. ของปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 122,232 ตัน สำหรับสินค้า Galvanized iron (GI) พบว่า การนำเข้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 18,500 ตัน ในปี 2557 เป็น 115,910 ตัน ในปี 2558 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 237,633 ตัน ในปี 2560 และ 299,142 ตัน ในปี 2561 ตามลำดับ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณนำเข้าสูงถึง 355,000 ตัน

 

ในส่วนของสินค้า Prepainted galvanized iron (PPGI) and Prepainted aluminum Zinc (PPGL) พบว่า ปริมาณนำเข้าลดลงในปี 2558 จาก 152,528 ตัน ในปี 2557 เป็น 143,735 ตัน แต่ในปี 2559 ปริมาณนำเข้าได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 209,600 ตัน และลดลงอีกครั้งในปี 2560 เป็น 178,748 ตัน ก่อนที่จะปรับสูงขึ้นเป็น 191,039 ในปี 2561 สำาหรับปริมาณการนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณ 174,256 ตัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมภายในระบุว่าปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการผลิต อัตราการใช้กำลังการผลิต กำไร และการจ้างงานในประเทศลดลง ในขณะที่สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น

ฟิลิปปินส์เปิดไต่สวนเซฟการ์ดเหล็ก ล็อกเป้าสินค้าจีน-ไทยรอด

สคต. ณ กรุงมะนิลา เผยว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการใช้มาตรการ Safeguard เชิงรุกหลายกรณีในช่วงที่ผ่านมา เช่น สินค้า Testliner Board สินค้า Cement สินค้า Float Glass และสินค้า Newsprint เป็นต้น

 

สำหรับการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ Safeguard สินค้า GI สินค้า GL และสินค้า PPGI และ PPGL ในคราวเดียวรวม 3 กรณี เนื่องจากเกิดการไหลทะลักของสินค้า ดังกล่าวเข้ามาในฟิลิปปินส์ปริมาณมาก ทำให้ อุตสาหกรรมภายในไม่สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมภายในประสบความยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้จากสถิตินำเข้าพบว่า ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวนส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็น สัดส่วนประมาณร้อยละ 93 – 99 ของการนำเข้าสินค้าทั้ง 3 กรณี

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยเองก็อยู่ในระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) สำหรับสินค้า GI และ GL จากจีน เช่นเดียวกัน เนื่องจากพบแนวโน้มปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นและมีการจำหน่ายในราคาทุ่มตลาด อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่า สาเหตุที่ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีนเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากสถานการณ์ความต้องการใช้เหล็กในจีนหดตัวลงอย่างมากและยิ่งหดตัวเพิ่มมากขึ้นจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 แต่การผลิตเหล็กภายในจีนยังคงมีปริมาณค่อนข้างสูง ทำให้จีนต้องเร่งส่งออกสินค้าไปยังประเทศเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อระบายสต็อกภายในประเทศ

ฟิลิปปินส์เปิดไต่สวนเซฟการ์ดเหล็ก ล็อกเป้าสินค้าจีน-ไทยรอด

สำหรับการนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวนทั้ง 3 กรณีดังกล่าวจากไทยพบว่า มีปริมาณเพียงเล็กน้อยและไม่ได้อยู่ใน กลุ่มประเทศ Major sources ของการนำเข้าสินค้าดังกล่าว โดยภายใต้กฎหมาย Safeguard ระบุไว้ว่า หากส่วนแบ่งการนำเข้าสินค้าที่ถูกไต่สวนจากประเทศกำลังพัฒนาไม่เกินร้อยละ 3 ของปริมาณการนำเข้ารวมของสินค้านั้น ห้ามมิให้บังคับใช้มาตรการกับประเทศดังกล่าว

 

ดังนั้นในการแก้ต่างกรณีดังกล่าว รัฐบาลไทยโดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ดำเนินการขอยกเว้นรายชื่อประเทศไทยออกกลุ่มประเทศที่จะอยู่ในข่ายถูกใช้มาตรการฯ ซึ่งขณะนี้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์อยู่ในระหว่างเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อโต้แย้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการเปิดไต่สวนดังกล่าว ตามขั้นตอนกระบวนการไต่สวนของฟิลิปปินส์ หากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วปรากฎหลักฐานว่า การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกำลังคุกคามที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในจริง ก็จะพิจาณากำหนดมาตรการปกป้องชั่วคราวและเสนอให้หน่วยงาน Tariff Commission พิจารณาไต่สวนอย่างเป็นทางการ (Formal Investigation) ต่อไป โดยปกติหน่วยงาน Tariff Commission จะใช้ระยะเวลาไต่สวนภายใน 120 วัน กรณีเร่งด่วนภายใน 60 วัน ในการออกผลการไต่สวนชั้นที่สุด

 

สำหรับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ เนื่องจากฟิลิปปินส์อยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการสินค้าดังกล่าวสูง โดยในปี 2562 สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ของไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ 179 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 8 ของสินค้าทั้งหมดที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ สำหรับช่วง 5 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 71.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

 

ทั้งนี้สินค้าเหล็กที่ถูกฟิลิปปินส์เปิดไต่สวนทั้ง 3 กรณี พบว่าไม่ใช่สินค้าหลักในกลุ่มสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังฟิลิปปินส์ ทำให้มีปริมาณนำเข้าเพียงเล็กน้อยและหากไทยได้รับการยกเว้นจากกลุ่มประเทศที่อยู่ในข่ายถูกใช้มาตรการฯ ตามข้อกำหนดเกณฑ์ปริมาณขั้นต่ำ ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกไทยเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวังในการกำหนดปริมาณและราคาส่งออกที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ไม่ให้ถูกจับตาหรืออยู่ในข่ายที่จะถูกใช้มาตรการในอนาคต