สื่อจีนรายงานว่าหลังจากฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัย1 ในจีนสิ้นสุดลง สถิติการใช้แพลตฟอร์มเกาเต๋อชูโย๋ว (高德出游 Gao De Chu You) ในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นถึงร้อยละ 10 ติดกัน 3 สัปดาห์แสดงให้เห็นว่าครอบครัวชาวจีนมีความต้องการเดินทางท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ผ่อนคลายลง
นอกจากนี้ยังพบว่า การค้นหา “ประเภทสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด” ได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด และจำนวน สถานที่ท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้ในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น เซี่ยงไฮ้ ซีอาน และเฉิงตูเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 นอกจากนี้สัดส่วนของการท่องเที่ยวนอกเมืองยังเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา (ข่าววันที่ 6 ส.ค 2563) และเมื่อดูจากสถิติการกดซื้อตั๋วตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เทียบกับช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า จำนวนการซื้อตั๋วจากนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่านแพลตฟอร์มเกาเต๋อชูโย๋ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 130 โดยสถานที่ยอดนิยมมากที่สุด คือ สถานีวิจัยการเพาะพันธุ์หมีแพนด้าเฉิงตูสวนสัตว์ป่าปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์รีสอร์ท กำแพงเมืองจีนในปักกิ่ง และ สวนน้ำฉางหลงในกวางโจว
ในด้านของการจองโรงแรม ตั้งแต่ฤดูร้อนเป็นต้นมา พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง เมืองหูโจว เมืองชิง หยวน และเมืองหยางเจียง เป็นต้น ต่างได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้การจองโรงแรมสำหรับช่วงวันหยุดฤดูร้อนผ่านแพลตฟอร์มได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาโรงแรมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ซานย่า เซี่ยงไฮ้ หางโจว ฝูโจว จูไห่และปักกิ่ง เป็นเมืองที่โรงแรม 4-5 ดาวขึ้นไปได้รับความนิยมสูง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ทูตพาณิชย์) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีนระบุว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องในทั่วโลก แต่ประเทศจีนถือเป็นประเทศหนึ่งที่รับมือและควบคุมสถานการณ์ได้ดีจนทำให้ประเทศจีนเป็นประเทศที่สามารถกลับมาฟื้นฟู เศรษฐกิจได้เป็นประเทศแรก ๆ จากหลายประเทศที่ประสบปัญหาของโรคระบาดในปี 2563 การที่ชาวจีนมีความพร้อมในการออกไปท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่อนคลายลง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ข่าวสารจากประเทศจีน อย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปปรับใช้ในการวางนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจต่อไป
ที่มา