ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มโครงการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน แล้ววานนี้ (อาทิตย์ที่ 27 ธ.ค.) โดยผู้ได้รับโอกาสในการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกคือ บรรดาบุคลากรการแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็น “ด่านหน้า” ในการรับมือกับผู้ป่วยโควิดจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดที่จะติดเชื้อ และกลุ่มผู้สูงวัย-ผู้อยู่ในวัยเกษียณ ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและอาจออกอาการได้อย่างรุนแรง ตอนนี้พวกเขากำลังได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์-บิออนเทค เพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19
“มันเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ มันน่าตื่นเต้นและเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” คลาวเดีย อาลิเวอร์นินี เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์วัย 29 ปี จากประเทศอิตาลีกล่าว ขณะเข้าแถวรอรับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงโรม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งมีประชากร 450 ล้านคน กำลังไล่ตามสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไปติด ๆ ในโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 หลังจากที่สหรัฐและอังกฤษ ได้เริ่มฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทคไปเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้
ในส่วนของอียูนั้น มีกำหนดได้รับส่งมอบวัคซีนจำนวน 12.5 ล้านโดสในช่วงสิ้นปีนี้ (2563) ซึ่งจะเพียงพอสำหรับประชาชน 6.25 ล้านคน (บนพื้นฐานของการใช้วัคซีน 2 โดสต่อ 1 คน) ทั้งนี้ ทางอียูได้ลงนามทำสัญญาจองซื้อวัคซีนหลายฉบับกับบรรดาบริษัทผู้ผลิต ซึ่งนอกเหนือจากวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทคแล้ว อียูยังมีสัญญาซื้อวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา และแอสตร้าเซนเนก้า คิดเป็นยอดสั่งซื้อรวมกว่า 2,000 ล้านโดส โดยอียูตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้กับประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคนในปีหน้า(2564)
ก่อนหน้านี้มีผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า มีผู้คนมากมายในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฯลฯ ที่ “ต่อต้าน” การฉีดวัคซีน ทำให้บรรดาผู้นำชาติสมาชิก 27 ประเทศของอียู ต้องออกมารณรงค์ส่งเสริมการวัคซีน โดยเน้นให้เห็นถึงความปลอดภัย และย้ำว่า นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะกลับคืนสู่วิถีชีวิตที่เป็นปกติ แม้ว่าจะเป็นการปกติเพียงแค่บางส่วนในปีหน้า
นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัววานนี้ว่า "เรามีอาวุธใหม่สู้กับไวรัส นั่นคือวัคซีน เราต้องยืนหยัดขึ้นได้อีกครั้ง" มาครงเองเคยมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค. และเพิ่งสิ้นสุดการกักกันตัวในวันคริสต์มาสอีฟ(24 ธ.ค.)
งานที่ท้าทายอย่างหนึ่งคือการเก็บรักษาและขนส่งวัคซีนไปยังจุดต่าง ๆ ทั่วอียู เนื่องจากวัคซีนบางตัวที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA (ใช้ดีเอ็นเอของไวรัสเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน) ต้องจัดเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำมากราว ๆ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ในบางประเทศ เช่น เยอรมนี โครงการฉีดวัคซีนต้องล่าช้าออกไปในหลายเมือง หลังการตรวจสอบอุณหภูมิพบว่า มีอยู่ราว ๆ 1,000 โดส ที่ไม่สามารถรักษาความเย็นได้เพียงพอระหว่างการขนส่ง
เซบาสเตียน คูร์ซ นายกรัฐมนตรีของออสเตรีย ให้ความเห็นว่า วัคซีนคือจุดเริ่มต้นของชัยชนะเหรือโรคระบาด แม้ว่าโรคระบาดอย่างโควิด-19 จะไม่ได้หายไปภายในวันเดียว แต่วัคซีนคือสิ่งที่จะทำให้เกมเปลี่ยน
โครงการฉีดวัคซีนกลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะต้องลงมืออย่างเร่งด่วนขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการตรวจพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้ไวขึ้นถึง 70 % โดยการตรวจพบเริ่มจากในอังกฤษและแอฟริกาใต้ ก่อนที่จะพบตามมาในอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สวีเดน ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และโปรตุเกส แต่จนถึงขณะนี้ พวกนักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาแล้วนั้น จะมีประสิทธิภาพจัดการกับโควิด-19 กลายพันธุ์ น้อยลงกว่าเดิม นับว่ายังคงเป็นข่าวดีอยู่บ้าง
ก่อนหน้านี้ ประเทศสมาชิกอียูเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ให้ความร่วมมือและไม่ช่วยเหลือกันมากนักในตอนที่โควิด-19 แพร่ระบาดใหม่ ๆในอิตาลีและฝรั่งเศส จนประเทศนอกภาคีอย่างจีน ต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลืออิตาลี ได้รับเสียงชมเชยไปมากมาย ดังนั้นในตอนนี้ ชาติสมาชิกอียูจึงตั้งหลักใหม่ ด้วยการวางเป้าหมายของการฉีดวัคซีนพร้อม ๆกัน และรับประกันว่าทุกชาติทั่วภูมิภาคจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในยุโรปที่ไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 27 ธ.ค. พร้อมกับประเทศอื่น ๆ เช่น ฮังการี สโลวาเนีย และเยอรมนี เริ่มฉีดก่อนชาติอื่น ๆในวันที่ 26 ธ.ค. แต่เป็นการฉีดในแวดวงจำกัดเล็ก ๆ เช่น บุคลากรการแพทย์และผู้สูงวัยในบ้านพักคนชรา ขณะที่เนเธอร์แลนด์ จะไม่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนก่อนวันที่ 8 ม.ค. (2564)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หมอยง"เปิด ข้อดี-ข้อเสีย ของวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด