สหรัฐจ่อซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 200 ล้านโดส ส่วนอียูบีบผู้ผลิตเร่งส่งมอบตามสัญญา

27 ม.ค. 2564 | 08:56 น.

อุปทานวัคซีนโควิด-19 มีจำกัด ทั้งสหรัฐและอียู จ้องซื้ออุตลุด โดยล่าสุด ปธน.โจ ไบเดน ประกาศแผนเตรียมซื้อเพิ่มอีก 200 ล้านโดสเพื่อให้มีพอฉีดชาวอเมริกัน ส่วนอียูขู่ฟ้องบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหากส่งช้าหรือมอบไม่ครบจำนวนตามสัญญา

สื่อต่างประเทศรายงานว่า คณะบริหารของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เตรียมซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 200 ล้านโดส และจะจัดส่งวัคซีนเพิ่มเติมไปยังรัฐต่างๆ ตามคำมั่นที่เคยให้ไว้ว่าจะสกัดแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในสหรัฐ

 

รายงานข่าวอ้างอิงเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของรัฐบาลสหรัฐว่า คณะบริหารของปธน.ไบเดนได้ชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ว่าการรัฐต่างๆ ทราบถึงแผนการเพิ่มจำนวนวัคซีนเป็น 10 ล้านโดสต่อสัปดาห์ตลอดช่วงสามสัปดาห์ข้างหน้า จากปัจจุบันซึ่งใช้อยู่ที่ 8.6 ล้านโดส

 

ทั้งนี้ คณะบริหารจะซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์ และโมเดอร์นา บริษัทละ 100 ล้านโดส ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนวัคซีนรวมทั้งหมด 600 ล้านโดส และคาดว่าจะส่งมอบได้ในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยวัคซีนดังกล่าวต้องฉีดในจำนวน 2 โดสต่อคนเพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าการจัดซื้อวัคซีนในครั้งนี้จะครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

       

นอกจากนี้ คณะบริหารยังสัญญาว่าจะแจ้งจำนวนวัคซีนที่แต่ละรัฐจะได้รับล่วงหน้าสามสัปดาห์

 

เมื่อวันจันทร์ (25 ม.ค.) ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดนแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถฉีดวัคซีนได้ 150 ล้านโดสใน 100 วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ เขาตั้งเป้าหมายว่า รัฐบาลจะสามารถฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกันจำนวนมากกว่า 1 ล้านโดสต่อวัน หรือเท่ากับการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้แก่ชาวอเมริกันในช่วงการดำรงตำแหน่ง 100 วันแรกของเขา แต่ต่อมา เขาก็เชื่อว่า สหรัฐมีสมรรถนะที่จะทำได้มากกว่านั้น

 

"ผมหวังว่าเราจะสามารถให้การฉีดวัคซีนจำนวน 1.5 ล้านโดสต่อวัน มากกว่าที่จะเป็น 1 ล้านโดสต่อวัน" ปธน.ไบเดนกล่าวเมื่อวันอังคาร (26 ม.ค.) และสาเหตุหนึ่งที่ต้องเร่งทำให้ได้มากกว่าเป้าเดิมที่ตั้งใจไว้เป็นเพราะ ขณะนี้ สหรัฐยังคงครองอันดับ 1 ของโลกทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 25.8 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 430,000 ราย

 

อียูขู่ฟ้องบริษัทผู้ผลิตส่งมอบช้า-น้อยกว่าสัญญา 

ขณะที่สหรัฐมีความต้องการซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 200 ล้านโดสดังกล่าว ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) ก็กำลังคร่ำเคร่งกับการสร้างความมั่นใจว่า จะได้รับวัคซีนครบถ้วนตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ทำสัญญาไว้กับบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรปยังพุ่งขึ้นน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ที่ติดต่อได้เร็วขึ้น

 

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) กล่าววานนี้ (26 ม.ค.) ว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะต้องรักษาคำพูดเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนให้แก่อียู

 

"ยุโรปลงทุนไปแล้วหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งแรกของโลก และเพื่อสร้างสินค้าสาธารณะสำหรับโลกอย่างแท้จริง และตอนนี้ บริษัทผู้ผลิตก็จะต้องส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามข้อผูกพันตามสัญญา "นางฟอน เดอร์ เลเยน กล่าว

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ  ได้แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ จะเริ่มมีการส่งมอบให้กับอียู “ต่ำกว่าเป้าหมาย” จนถึงปลายเดือนมี.ค. สาเหตุเนื่องมาจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส ขณะที่บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ระบุเช่นกันว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 เหลือเพียง 50% ให้แก่ยุโรป โดยจะกระทบการส่งมอบช่วงสิ้นเดือนม.ค.นี้จนถึงต้นเดือนหน้า

 

นายเอดการ์ รินเควิช รมว.ต่างประเทศลัตเวีย กล่าวว่า อียูอาจยื่นฟ้องร้องบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ต่อศาลในข้อหาละเมิดสัญญาจัดส่งวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ อียูยังขู่ที่จะจำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่มีการผลิตในยุโรปด้วย โดยไฟเซอร์มีโรงงานผลิตวัคซีนอยู่ในประเทศเบลเยียม เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระบุว่า อียูจะกำหนดให้บริษัทยาทำการลงทะเบียนการส่งออกวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการนำโควต้าวัคซีนของอียูไปส่งมอบให้แก่ประเทศอื่น

 

ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้าแถลงเมื่อวันศุกร์ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีการส่งมอบไปยัง EU ต่ำกว่าเป้าหมายจนถึงปลายเดือนมี.ค. อันเนื่องจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส ทั้งนี้ ออสเตรเลียและไทย ที่สั่งซื้อวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ก็ประสบปัญหาการส่งมอบวัคซีนได้น้อยลงจากแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน

 

ไฟเซอร์ อิงค์ ระบุว่าบริษัทจำเป็นต้องลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข เปิดเผยว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ไทยจำนวน 150,000 โดส จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200,000 โดส และต่ำกว่าจำนวน 1 ล้านโดสที่ไทยเสนอในช่วงแรก

 

ก่อนหน้านี้ บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ระบุว่า บริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ยุโรป ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปแสดงความไม่พอใจ ขณะที่บางประเทศ เช่น อิตาลี ขู่จะดำเนินการทางกฎหมายเอาผิดบริษัทผู้ผลิตที่ละเมิดข้อสัญญา

 

รัฐบาลโรมาเนียเปิดเผยว่า ไฟเซอร์ได้ลดการส่งมอบวัคซีน 50% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ระบุว่าจะค่อยๆเพิ่มจำนวนการส่งมอบในภายหลัง แต่เชื่อว่าการส่งมอบจะยังไม่กลับสู่ระดับปกติ จนกว่าจะถึงปลายเดือนมี.ค.

 

ประเทศอื่น ๆ อาทิ โปแลนด์ก็ถูกลดการส่งมอบวัคซีนเหลือเพียง 50% เช่นกัน ขณะที่สาธารณรัฐเชคกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีนเช่นเดียวกัน จนส่งผลกระทบต่อโครงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่ประชาชน

 

ทางด้านเดนมาร์กระบุว่า การที่ไฟเซอร์ลดการส่งมอบวัคซีน 50% จะทำให้เกิดการขาดแคลนวัคซีน 10% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนรัฐบาลฮังการีเรียกร้องให้อียู ทำการเจรจากับไฟเซอร์เพื่อให้มีการส่งมอบวัคซีนอย่างตรงเวลา ขณะที่ประเทศที่อยู่นอกอียู เช่น สวิตเซอร์แลนด์และแคนาดาก็ถูกไฟเซอร์ลดการส่งมอบวัคซีนเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ไฟเซอร์ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางบริษัทจะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จึงทำให้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบวัคซีนเป็นการชั่วคราว “ปริมาณการส่งมอบวัคซีนจะลดลงตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนนี้(ม.ค.) จนถึงต้นเดือนหน้า(ก.พ.) โดยกระทบต่อการส่งมอบวัคซีนให้กับทุก ๆ ประเทศในยุโรป อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์ระบุว่า การส่งมอบวัคซีนจะเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. เป็นต้นไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวั่นประเทศยากจนหมดสิทธิซื้อวัคซีนโควิด เหตุชาติร่ำรวยกักตุนมากเกินพอ

จีนเข้าร่วมโครงการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม

สหรัฐฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 20 ล้านโดส อัตราติดเชื้อลด 21% ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

“วัคซีนโควิด-19” สหรัฐพบผู้เสียชีวิตหลังฉีดไม่กี่ชั่วโมง