สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลสื่อของกัมพูชาว่า กัมพูชามีแผนที่จะส่งเสริมการผลิตทุเรียนโดยการขยายพื้นที่เพาะปลูกและมาตรฐานโรงงานการผลิต โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งสมาคมชาวสวนทุเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของกัมพูชา บ่งชี้ว่า ปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่ที่ใช้ปลูกทุเรียนจำนวน 5,289 เฮกตาร์(ประมาณ 3.4 หมื่นไร่)ในจำนวนนี้กว่า 3,403 เฮกตาร์(ประมาณ 2.2 หมื่นไร่)สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 36,656 ตันต่อปีซึ่งหากแผนดังกล่าวสำเร็จ คาดว่าจะสามารถทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกทุเรียนในกัมพูชามีรายได้เพิ่มเป็น 120,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ(3.7 ล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) ต่อเฮกตาร์ต่อปี
ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ
1) กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของกัมพูชา ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสินค้าเกษตร ของประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญที่อยู่ในแผนการพัฒนาของกระทรวงฯ
2) การปลูกทุเรียนในกัมพูชาเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการบริโภคทุเรียนในประเทศ ที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามราคาทุเรียนที่ผลิตภายในประเทศจะยังคงมีราคาสูงกว่าทุเรียนนำเข้าจากต่างประเทศ โดยทุเรียนที่ผลิตในกัมพูชา มีราคาอยู่ที่ 28,000 เรียล (7.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 233 บาทต่อ กก.) - 30,000 เรียล ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ทุเรียนนำเข้า มีราคาอยู่ที่ 20,000 เรียลต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้จากการปลูกทุเรียน ประมาณ 10,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ(3.1-6.2 แสนบาท) ต่อเฮกตาร์ต่อปี
3) ทุเรียนของกัมพูชา มีรสชาติหวานเฉพาะตัว แตกต่างจากทุเรียนจากไทยที่มีรสชาติหวานมัน ซึ่งส่วนใหญ่เพาะปลูกในจังหวัดกัมปอต กำปงจาม เกาะกง และ พระตะบอง
สำหรับโอกาสหรือผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยคือ 1) แม้ว่าความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวกัมพูชา และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกัมพูชายังเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ผู้ส่งออกทุเรียนของไทยควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนส่งออกมายังกัมพูชาเพื่อรักษาตลาด ซึ่งหากกัมพูชามีผลผลิต และคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดมากขึ้น อาจส่งผลประทบต่อการส่งออก ทุเรียนของไทยไปยังกัมพูชาได้
2) ทุเรียนที่ผลิตในกัมพูชามีราคาสูงกว่าทุเรียนนำเข้า ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนในด้านการบริหารจัดการสวน ค่าแรง และการขนส่ง ผู้ประกอบการไทยซึ่งมีประสบการณ์สูงอาจใช้โอกาสนี้พิจารณาหาลู่ทางเข้าไปลงทุนทำสวนทุเรียน โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศ และภูมิอากาศ คล้ายคลึงกับไทย 3) แม้กัมพูชาจะมีทุเรียนเป็นผลผลิตจากปลูกในประเทศ แต่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาก็ยังมีความชื่นชอบ ทุเรียนที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียนของไทย
อนึ่ง ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ระบุช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 ไทยมีการส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 27,502 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ จีน 24,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +33.45% ,ฮ่องกง 1,934 ล้านบาท -45.56%, เวียดนาม 1,910 ล้านบาท -65.37%, ไต้หวัน 154 ล้านบาท -33.13% และมาเลเซีย 39 ล้านบาท +1,113% ส่วนปี 253 ไทยมีการส่งออกทุเรียนสด 65,631 ล้านบาท +44.30%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทุเรียนไทย ยืนหนึ่ง คนจีนแห่ซื้อ
ส่งออกทุเรียนพุ่งกระฉูด 2 เดือนตลาดจีนโต500%
จีนขอสัมปทานที่ดินลาว 3 หมื่นไร่ ปลูกทุเรียนอนาคตสะเทือนไทย