สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา อังกฤษ ได้ยื่นเรื่องเพื่อสมัครเข้าร่วม ข้อตกลง CPTPP ซึ่งเดิมในยุคก่อตั้งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และปัจจุบันมีญี่ปุ่นเป็นประธาน เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติในเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปีที่ผ่านมา
ทางการอังกฤษมองว่า ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวซึ่งน่าจะมีมูลค่า 9 ล้านล้านปอนด์ (12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้น จะเป็นศูนย์กลางแห่งการเติบโตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยชาติสมาชิกข้อตกลงดังกล่าว มีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์วานนี้ (21 มิ.ย.) ว่า การเป็นสมาชิกข้อตกลงดังกล่าว จะเปิดโอกาสอันยอดเยี่ยมให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภคอังกฤษ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อังกฤษหวังที่จะลดภาษีส่งออกรถยนต์และวิสกี และมองเห็นตลาดใหม่ ๆ ในการส่งออกอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อวัวและเนื้อแกะ
ปัจจุบัน CPTPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศในภาคพื้นแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยมี 7 ประเทศให้สัตยาบันแล้ว
นอกจากนี้ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อตกลง CPTPP ออกแบบมาเพื่อลดภาษีสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวมทั้งลดข้อจำกัดในการลงทุน และยกระดับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการบูรณาการทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก
สำหรับประเทศไทยนั้น ในวันนี้ (22 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 4 /2564 เพื่อพิจารณาผลการทำงาน หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัด และการปรับตัวจากข้อตกลง CPTPP หากที่ประชุมมีมติในทางใดก็จะเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นกำหนดกรอบเวลาดำเนินการตามที่ ครม.มอบหมาย ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม.ต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง