โควิดยังระบาดหนัก อินโดนีเซียเข้มล็อกดาวน์ “เกาะชวา-บาหลี”

01 ก.ค. 2564 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2564 | 20:22 น.

ขณะที่ไทยกำลังเปิดเกาะภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อินโดนีเซียที่กำลังเผชิญกับการระบาดหนักของโควิดสายพันธุ์ “เดลตา” จำเป็นต้องตัดสินใจปิดเกาะชวาและบาหลี ล็อกดาวน์พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกครั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 20 ก.ค.นี้  

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อินโดนีเซีย จำเป็นต้องประกาศใช้ มาตรการฉุกเฉิน อีกครั้งใน เกาะชวาและ เกาะบาหลี ซึ่งเกาะชวานั้นเป็นเกาะใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่เกาะบาหลีคือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่เหตุที่ต้อง ล็อกดาวน์ กันอีกครั้ง เป็นเพราะสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้เลวร้ายเหมือนที่เกิดขึ้นในอินเดีย บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียเร่งล็อกดาวน์ทั้งประเทศก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะล่มสลาย

ปธน.โจโค วิโดโด

มาตรการเข้มงวดดังกล่าว มุ่งจำกัดการเดินทางเคลื่อนที่ของผู้คนให้เหลือเฉพาะการเดินทางที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังปิดการจราจรทางอากาศ ห้ามการนั่งรับประทานภายในร้านอาหาร-ภัตตาคาร และสำนักงานของทางการที่ไม่จำเป็นก็ต้องปิดทำการ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปหากจำนวนผู้ป่วยไม่ลดลงต่ำกว่าระดับ 10,000 คนต่อวัน

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเกาะที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก กำลังเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทะลุ 20,000 รายต่อวันต่อเนื่องกันมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายวันถึง 21,807 ราย นับเป็นสถิติสูงสุดรายวันครั้งใหม่ของประเทศอินโดนีเซีย และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 2,178,272 ราย ขณะที่ยอดเสียชีวิตจากโควิดรวม 58,491 ราย จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ1 ของอาเซียน

ยอดติดเชื้อโควิดสะสมพุ่งทะลุ 2 ล้านคน ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ของอินโดนีเซีย ลังเลที่จะใช้มาตรการที่ถูกมองว่าเป็นกฎเหล็กเข้มงวด เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากสายพันธุ์ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาเริ่มแพร่ระบาด แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทำให้โรงพยาบาลทั่วเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียตกอยู่ในสภาพผู้ป่วยล้น เตียงโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอรับผู้ป่วยใหม่ กระทั่งบางแห่งต้องหันมาปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถให้เป็นแผนกฉุกเฉินรับผู้ป่วย เพื่อเปิดพื้นที่ห้องของโรงพยาบาลให้เป็นห้องแยกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่เดียวกัน ประชาชนก็จำเป็นต้องเข้าคิวยาว เพื่อรอซื้อออกซิเจนสำหรับใช้รักษาเครือญาติที่ไม่มีเตียงโรงพยาบาลรองรับและต้องรักษาตัวอยู่กับบ้าน

รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลของทางการระบุว่า จำนวนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย มีอัตราครองเตียงสูงถึง 93% แล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่โรงพยาบาลทั่วเกาะชวาก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน หรือบางแห่งก็ย่ำแย่ยิ่งกว่า ทำให้มาตรการฉุกเฉินครั้งล่าสุดที่รัฐบาลประกาศออกมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญว่า นอกจากช้าแล้วยังไม่เพียงพอ

นพ. ดิกกีย์ บูดิแมน แพทย์ด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า มาตรการของรัฐบาลอินโดนีเซียฉุกเฉินแต่เพียงในนาม แต่ไม่ได้รองรับสถานการณ์ในความเป็นจริงเลย

ในขณะที่ เดฟรีแมน จาฟรี นักระบาดวิทยาชาวอินโดนีเซีย จากมหาวิทยาลัยอันดาลาส ในเมืองปาดัง บนเกาะสุมาตรา ชี้ว่า มาตรการครึ่งๆ กลางๆ ของรัฐบาลไม่มีวันได้ผล ที่อินโดนีเซียต้องทำจริงๆ ในเวลานี้คือ การล็อกดาวน์ระดับสูงสุด ห้ามกิจกรรมนอกบ้าน ห้ามการสัมผัส ติดต่อ ให้อยู่กับบ้านตลอดเวลาเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ วัคซีนที่อินโดนีเซียใช้มากที่สุดในโครงการฉีดวัคซีนฟรีให้ประชาชนคือ วัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน รัฐบาลมีเป้าหมายว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน 181.5 ล้านคนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเพิ่งทำได้ประมาณ 7.5% ของเป้าหมายดังกล่าว

นายบูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ให้คำมั่นว่าจะเร่งเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้ประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังระบุว่าได้รับความช่วยเหลือจากออสเตรเลียที่บริจาคเงิน 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้รัฐบาลอินโดนีเซียไว้ใช้ในการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยส่งมอบเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆนี้ ซึ่งรวมถึงวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 4 ล้านโดสที่กำลังจะมาถึง