ฟิลิปปินส์เฝ้าระวังภูเขาไฟระเบิด เร่งอพยพประชาชนนับหมื่น (มีคลิป)

03 ก.ค. 2564 | 02:10 น.

รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เร่งอพยพครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้กับภูเขาไฟบนเกาะในจังหวัดบาตังกัส (Batangas) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางใต้ประมาณ 66 กิโลเมตร หลังจากภูเขาไฟเริ่มปะทุและส่งเถ้าถ่านสีเทาเข้มกระจายตัวสู่ท้องฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

จาก การปะทุ ของ ภูเขาไฟ "ตาอัล" (Taal) ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นายแฮรี โร้ก โฆษกประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางรัฐบาลได้เร่งการอพยพประชาชนในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงเขตเทศบาลอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง โดยรัฐบาลได้ส่งกำลังทหาร กองกำลังตำรวจ และยานพาหนะเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ได้รับผลกระทบออกจากเขตอันตรายแล้ว ขณะที่นายเฮอร์มิลานโด มานดานัส ผู้ว่าราชการจังหวัดบาตังกัส กล่าวว่ามีจำนวนครอบครัวในพื้นที่ถูกอพยพออกไป 3,523 ครอบครัว หรือราว 14,495 คนแล้ว

ภูเขาไฟตาอัล ทั้งนี้ การอพยพในหลายเมืองได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (1 ก.ค.) โดยจำนวนพลเมืองที่ได้รับผลกระทบอาจเพิ่มขึ้นหากเหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม

สถาบันภูเขาไฟวิทยาและแผ่นดินไหววิทยาแห่งฟิลิปปินส์ (Phivolcs) ได้ยกระดับการแจ้งเตือนสู่ระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ หลังจากเกิดการปะทุที่เรียกว่า  Phreatomagmatic Eruption ที่ปากปล่องภูเขาไฟ ซึ่งเป็นการที่ “แม็กม่า” (หินหนืดหลอมเหลว) ถูกขับดันออกมาจากปล่องภูเขาไฟมาบรรจบกับน้ำและทำให้เกิดเป็นก๊าซและระเหยเป็นไอ จนทำให้เกิดเถ้าถ่านสีเทาเข้มพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงถึง 1,000 เมตร

ภูเขาไฟตาอัลตั้งอยู่บนเกาะ

นายเรนาโค โซลิดัม ผู้อำนวยการของ Phivolcs กล่าวว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าการระเบิดครั้งยิ่งใหญ่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจรุนแรงมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. โดยทางสถาบันกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีแม็กม่าปะทุจากด้านล่างหรือไม่ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด "การระเบิดที่รุนแรงมาก" คล้ายกับปีที่แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า “ตาอัล” เป็นหนึ่งในภูเขาไฟลูกเล็กที่ยังคงคุกรุ่นมากที่สุดในโลก ถึงแม้จะมีความสูงเพียง 311 เมตรแต่สามารถเป็นภัยร้ายแรงได้เพราะการปะทุของภูเขาไฟตาอัลในปีค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,300 คน และในเดือนมกราคมปี 2020 (พ.ศ.2563) พบว่าตาอัลได้พ่นเถ้าถ่านขึ้นฟ้าสูง 15 กิโลเมตรและทำให้ประชาชนฟิลิปปินส์กว่า 100,000 คนต้องละทิ้งบ้านเรือนไป มีการยกเลิกเที่ยวบินเป็นวงกว้าง และกรุงมะนิลา เมืองหลวงซึ่งอยู่ห่างออกไป ก็ถูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านภูเขาไฟ