ธนาคารกลางจีน ประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 9 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐวานนี้ (17 ก.ย.) โดยมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงภาวะสภาพคล่องตึงตัวในระบบ หลังจากที่ บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีนประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีนยังมีเป้าหมายที่จะรองรับความต้องการเงินสดในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) ที่กำลังจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
สื่อต่างประเทศรายงานว่า การอัดฉีดสภาพคล่อง 14,000 ล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบธนาคารเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ถือเป็นการอัดฉีดเงินในปริมาณสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีนี้ และดำเนินการผ่านทางข้อตกลง reverse repos ประเภทอายุ 7 วันและ 14 วัน โดย reverse repo เป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต
การดำเนินการของธนาคารกลางจีนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ บริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ หรือ “เอเวอร์แกรนด์” กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด มีข่าวสะพัดว่าหากทางการจีนไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ยักษ์ใหญ่รายนี้ก็อาจต้องเผชิญภาวะล้มละลาย
ขณะเดียวกันมีการประเมินว่า เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ต้นเหตุของหนี้สินท่วมบริษัทเป็นเพราะเอเวอร์แกรนด์เร่งขยายธุรกิจด้วยการกู้เงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่องหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งมาในระยะหลัง ทางการได้เข้ามากำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นทั้งในเรื่องการสร้างหนี้สินของธุรกิจเอกชนและเพื่อหลีกเลี่ยงฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาฯ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ที่เอเวอร์แกรนด์ทุ่มลงทุนไป แต่ไม่สร้างรายได้และผลกำไรกลับมาอย่างที่คาดหวัง
จากข้อมูลที่มีการยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563
นักวิเคราะห์จากธนาคารโซซิเอเต เจนเนอราล (ซอคเจน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการขยับของแบงก์ชาติจีนในครั้งนี้ว่า การหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในระบบถือเป็นภารกิจสำคัญของธนาคารกลางจีน และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ก็มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนต้องสะดุดหรือชะลอตัวลง