นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส เปิดเผยแถลงการณ์ที่มีขึ้นเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) ระบุว่า ฝรั่งเศสได้ตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียกลับประเทศ หลังจากออสเตรเลียยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำของฝรั่งเศส และหันไปซื้อเรือดำน้ำของสหรัฐแทน
นายเลอ ดริยองระบุว่า "ผมได้ตัดสินใจทันทีที่จะเรียกเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหรัฐและออสเตรเลียกลับประเทศ ตามที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสเรียกร้อง โดยการตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลมาจากการประกาศของออสเตรเลียและสหรัฐเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา"
ฝรั่งเศสถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็น "การแทงข้างหลัง" เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2559 ออสเตรเลียได้ลงนามในสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 12 ลำด้วยกัน
สื่อของฝรั่งเศสรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ที่มีการเรียกเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐและออสเตรเลียกลับประเทศ
ด้านนายเคลมองต์ โบน รมว.ต่างประเทศฝ่ายกิจการยุโรปเปิดเผยว่า ฝรั่งเศสไม่สามารถไว้วางใจออสเตรเลียในการเจรจาการค้าที่ดำเนินอยู่กับสหภาพยุโรป (อียู) ได้อีกต่อไป หลังจากที่ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเปิดเผยถึง ข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงใหม่แบบไตรภาคี ที่เรียกว่า AUKUS (Australia-UK-US) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 ก.ย.) ภายใต้ข้อตกลงไตรภาคีดังกล่าว สหรัฐและอังกฤษจะส่งมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย ขณะที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 นั้น ออสเตรเลียได้ลงนามในสัญญาเพื่อซื้อเรือดำน้ำพลังงานเชื้อเพลิงดีเซลและไฟฟ้า 12 ลำจากฝรั่งเศส
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่าทีของฝรั่งเศสที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับออสเตรเลียที่กำลังถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงนั้น อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อกระบวนการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี ( FTA)ระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับออสเตรเลีย ที่เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ อียูและออสเตรเลียได้ดำเนินการด้านการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และออสเตรเลียปี 2551
สถิติในปี 2563 ชี้ว่า ออสเตรเลียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 19 ของอียู และอียูก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของออสเตรเลียรองจากจีนและญี่ปุ่น