ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ หรือที่รู้จักกันในนาม “เอเวอร์แกรนด์” (Evergrande) ได้ยื่นข้อเสนอต่อเจ้าหนี้วานนี้ (19 ก.ย.) ขอชำระหนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่บริษัทประสบปัญหาขาดภาพคล่อง แบกภาระหนี้เกินมูลค่าสินทรัพย์ และสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ปัญหาสภาพคล่องของเอเวอร์แกรนด์เกิดจากฟองสบู่เครดิตช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้บริษัทตัดสินใจเร่งขยายกิจการเชิงรุกเข้าสู่หลายภาคธุรกิจด้วยเงินกู้ แต่ในภายหลังเมื่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีนยกระดับการตรวจสอบช่องทางการเงินเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับเป็นปกติ บริษัทก็ได้ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องอย่างหนัก
ฝ่ายผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งของเอเวอร์แกรนด์ประกาศว่า นักลงทุนที่ต้องการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ สามารถติดต่อที่ปรึกษาด้านการลงทุนหรือสำนักงานบริการของบริษัทได้ โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน และสัญญาการลงทุนเพื่อรับคำปรึกษาและทำธุรกรรมดังกล่าว
ธุรกรรมนี้เป็น 1 ใน 3 ตัวเลือกที่เอเวอร์แกรนด์เสนอให้เจ้าหนี้ในส่วนผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง หลังจากนักลงทุนหลายร้อยรายจากทั่วประเทศจีนรวมตัวประท้วงที่สำนักงานใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ในเมืองเซินเจิ้น เพื่อเรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้ ซึ่งอาจมีมูลค่ารวมถึง 4 หมื่นล้านหยวน (6,190 ล้านดอลลาร์)
นายตู้ เหลียง หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่งของเอเวอร์แกรนด์ระบุว่า ตามแผนชำระหนี้ บริษัทสามารถชำระหนี้ได้ในรูปแบบเงินสดชำระเป็นงวด, อสังหาริมทรัพย์ หรือชำระหนี้อสังหาริมทรัพย์แทนนักลงทุน โดยเขาเผยว่า นักลงทุนจะได้รับส่วนลด 28-52% จากราคาเต็ม หากซื้ออสังหาริมทรัพย์ของเอเวอร์แกรนด์ ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์, ร้านค้า หรือพื้นที่จอดรถ
ด้านนายเซิน เมิ่ง ผู้อำนวยการธนาคาร Chanson & Co ในกรุงปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลจีนว่า “สำหรับนักลงทุน อพาร์ตเมนต์ไม่มีสภาพคล่องเหมือนเงินสด แต่ก็ยังมีค่ามากพอสมควร ตัวเลือกนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่แย่ที่สุดเช่นกัน”