อนาคตเยอรมนีหลังเลือกตั้ง ในวันที่ไร้เงา "อันเกลา แมร์เคิล"

29 ก.ย. 2564 | 08:18 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 15:40 น.

การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนีปิดฉากลงแล้ว โดยพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) เฉือนเอาชนะขั้วอำนาจเดิมอย่างพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU)/พรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอันเกลา แมร์เคิลไปได้อย่างฉิวเฉียด ด้วยที่นั่งในรัฐสภาจำนวน 207 ต่อ 196 ที่นั่ง

แม้ดูจากตัวเลข ผลการเลือกตั้ง ที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (26 ก.ย.)แล้ว เหมือนว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูสี แต่หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พรรค CDU/CSU เป็นฝ่ายกุมบังเหียนการเมืองเยอรมนีตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ย่อมแสดงถึงความนิยมของพรรค CDU/CSU ที่ตกต่ำลงอย่างมาก

 

สื่อต่างประเทศหลายสำนักมองว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการส่งสัญญาณจากชาวเยอรมันที่อยากเห็นประเทศเดินไปในทิศทางใหม่หลังหมดยุคสมัยของนางแมร์เคิล  บทความพิเศษ In Focus โดยสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ในสัปดาห์นี้ ได้นำเสนอภาพ อนาคตเยอรมนีหลังเลือกตั้ง ในวันที่ไร้เงา "อันเกลา แมร์เคิล" พร้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเยอรมนี และทำความรู้จัก “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปของมหาอำนาจแห่งยุโรป

         

ระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีโดยสังเขป

ระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีกำหนดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่ละคนมีสิทธิลงคะแนน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการเลือกผู้แทนในเขตเลือกตั้งของตน และครั้งที่สองเป็นการเลือกพรรคการเมืองฃ

 

ผู้แทนจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 299 ที่นั่ง ส่วนอีก 299 ที่นั่งมาจากสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองที่จะได้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 5% หรือคิดเป็นจำนวนผู้แทนอย่างน้อย 3 ที่นั่ง

 

ขณะเดียวกัน ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ จะได้สิทธิในการเข้าไปนั่งในสภาไม่ว่าผลคะแนนของพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่จะเป็นเช่นไร ส่งผลให้จำนวนที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภาเยอรมนีมีจำนวนไม่แน่นอน และมักจะสูงกว่า 598 ที่นั่งตามหลักการ

ชัยชนะแบบเฉียดฉิวของ SPD

เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่ปี 2500 รัฐบาลผสมจึงกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานของเยอรมนี ซึ่งหมายถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลอาจกินเวลายาวนาน (ใช้เวลาถึงเกือบ 6 เดือน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2560) เพราะต้องมีการเจรจากันหลายฝ่าย

 

โอลาฟ โชลซ์: ว่าที่นายกฯเยอรมนี...หากเกมไม่พลิก

โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) เป็นสมาชิกของพรรค SPD มาตั้งแต่เริ่มเส้นทางการเมือง และแม้ในช่วงแรกจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายในพรรคมากเท่ากับผู้นำพรรครายอื่น ๆ แต่เขาก็ได้กลายมาเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคในที่สุด

 

 นายโชลซ์อาจไม่โดดเด่นนักในเวทีโลก แต่เขาก็มีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย โดยเขาเคยทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมในรัฐบาลสมัยแรกของนางแมร์เคิล ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีประจำเมืองฮัมบวร์กระหว่างปี 2554-2562

โอลาฟ โชลซ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลปัจจุบัน

หลังจากนั้น นายโชลซ์ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลปัจจุบัน และสร้างผลงานจากการคุมนโยบายเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของเยอรมนีสำหรับผู้ประกอบการ พนักงาน และประชาชนที่ขาดได้รายได้ จนได้รับการมองว่าเป็นเสมือน "มือขวา" ของนางแมร์เคิล

 

 ถึงกระนั้นประวัติของนายโชลซ์ก็ใช่ว่าจะไร้จุดด่างพร้อย เขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากไม่สามารถควบคุมเหตุจลาจลในเมืองฮัมบวร์กระหว่างการประชุม G20 เมื่อปี 2560 ที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายร้อยคน รวมถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุอื้อฉาวจากคดีฉ้อโกงบริษัทไวร์การ์ด (Wirecard) อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าเขายังคงสามารถรับมือกับวิกฤตทางการเมืองได้โดยไม่แสดงท่าทีเดือดร้อนใด ๆ

 

นายโชลซ์นำเสนอตัวเองในฐานะผู้ยึดหลักปฏิบัติจริง และบริหารงานด้วยแนวทางที่ปลอดภัยมั่นคง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า สไตล์การบริหารของนายโชลซ์นั้นใกล้เคียงกับนางแมร์เคิลอยู่มาก แม้ว่าเขาจะมาจากพรรค SPD ที่อยู่ฝั่งกลาง-ซ้ายของขั้วการเมือง ในขณะที่พรรค CDU/CSU ของนางแมร์เคิลเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝั่งขวา

 

อาร์มิน ลาสเชต: ทายาทแมร์เคิลที่ประกาศไม่ยอมแพ้ท่ามกลางเสียงวิจารณ์

อาร์มิน ลาสเชต (Armin Laschet) ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรค CDU เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐนอร์ทไรน์-เวสท์ฟาเล็น ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในเยอรมนี เขาวางตำแหน่งตัวเองเป็นทายาททางการเมืองโดยตรงของนางแมร์เคิล และมักได้รับการชื่นชมในฐานะผู้นำที่สามารถรวมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้

 

หลังจากมีการประกาศผลเลือกตั้งออกมา นายลาสเชตก็ออกแถลงข่าวระบุว่า ด้วยผลคะแนนเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรค SPD หรือพรรค CDU/CSU ก็สามารถรวบรวมพรรคจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมั่นใจว่าตนจะสามารถเจรจากับพรรคกรีนและพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) และหาจุดยืนร่วมกันได้ในที่สุด

อาร์มิน ลาสเชต จากพรรค CDU

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวส่อแววล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น หลังพรรค CSU ออกมาประกาศว่า จะไม่ดึงดันจัดตั้งรัฐบาลของพรรค CDU/CSU หากขัดต่อหลักการ ทั้งยังมีผลสำรวจความคิดเห็นของ Civey ที่ระบุว่า ผู้สนับสนุนพรรค CDU/CSU ราว 50% ต้องการให้นายลาสเชตถอนตัว และชาวเยอรมันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 70% มองว่า นายลาสเชตควรยุติความพยายามจัดตั้งรัฐบาล

 

ศึกจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคกรีนและพรรค FDP เป็นผู้ชี้ชะตา

ด้วยคะแนนเสียง 25.7% พรรค SDP จึงต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่น ๆ เพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในขณะนี้ก็คงจะมาจากที่ใดไม่ได้ นอกจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 3 และ 4 อย่างพรรคกรีน (14.8%) และพรรค FDP (11.5%)

 

พรรคกรีนและพรรค FDP ต่างก็มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ และมีนโยบายด้านสังคมที่เอนเอียงไปทางฝ่ายหัวก้าวหน้าเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว ทั้งสองพรรคเรียกได้ว่าหาจุดยืนร่วมกันยาก โดยพรรคกรีนที่ใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจในมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง สวนทางกับพรรค FDP ที่เชื่อว่ารัฐบาลควรใช้อำนาจเพียงเท่าที่จำเป็น และประกาศว่าพรรค FDP จะไม่ยอมรับนโยบายปรับขึ้นภาษีหรือสร้างหนี้สาธารณะมากเกินไปโดยเด็ดขาด

 

ทั้งนี้ ผู้นำของพรรคกรีนและพรรค FDP ต่างก็ประกาศว่า พร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยจะพูดคุยกันระหว่างทั้งสองพรรคเพื่อหาแนวทางเบื้องต้นก่อน

 

ด้านนายโชลซ์ได้แสดงความมั่นใจว่า ตนจะสามารถเจรจากับพรรคกรีนและพรรค FDP เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเขากล่าวว่า "ในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี มีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างขั้วสังคมนิยม, สิ่งแวดล้อม และเสรีนิยมอยู่ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เราเจริญรอยตามได้ และเราควรทำเช่นนั้นเพื่อรับมือกับอุปสรรคในอนาคต"

 

หากนายโชลซ์สามารถเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคกรีนและพรรค FDP ได้สำเร็จ ก็จะทำให้เยอรมนีมีรัฐบาลผสม 3 พรรคเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปี 2493-2502

 

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ เยอรมนีอยู่ภายใต้การบริหารของนางแมร์เคิลมานานถึง 16 ปี ซึ่งแปลว่า คนเยอรมันรุ่นใหม่ที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนมากไม่เคยเห็นการทำงานของนายกรัฐมนตรีรายอื่นนอกจากนางแมร์เคิล สื่อเยอรมนีรายงานว่า พรรคกรีนและพรรค FDP ได้รับเสียงสนับสนุนมากเป็นพิเศษจากผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด

 

ความซับซ้อนของระบบเลือกตั้งของเยอรมนี ทำให้แม้จะสรุปผลคะแนนออกมาแล้ว ก็ยังคาดเดาได้ยากว่ารัฐบาลเยอรมนีในอนาคตจะประกอบด้วยพรรคใดบ้างหรือมีแนวทางนโยบายอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่เราคงต้องติดตามในระยะยาวกันต่อไป

 

ที่มา : In Focus /สำนักข่าวอินโฟเควสท์