ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็น ยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่ง บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%
แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มเจรจาเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว ซึ่งรวมถึงไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และอังกฤษ
แม้ราคาแพง แต่ก็มีข้อดีอื่น ๆ
ข่าวระบุว่า รัฐบาลสหรัฐเองได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส หรือ 68 ล้านเม็ด วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 23,000 บาท โดยมีราคาราวเม็ดละ 600 บาท
ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
สำหรับไทยกำลังเจรจาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์คเช่นกัน จำนวน 200,000 คอร์ส โดยคาดว่าไทยจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ในเดือนธ.ค. นี้ และหากบริษัทเมอร์คคิดราคายาโมลนูพิราเวียร์ในระดับเดียวกับสหรัฐ คาดว่ารัฐบาลไทยจะต้องใช้งบ 4,600 ล้านบาทเพื่อซื้อยาดังกล่าว
เมอร์คได้เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายยาดังกล่าวสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท
ถึงแม้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาแพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ที่มีการใช้กันในหลายประเทศ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ก็มีราคา “ถูกกว่า” เมื่อเทียบกับยาของบริษัท รีเจอเนอรอน (Regeneron) ซึ่งมีราคาโดสละ 1,250 ดอลลาร์ ขณะที่ยาของบริษัทแกล็คโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) มีราคาโดสละ 2,100 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีความสะดวกต่อการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเองที่บ้าน เมื่อเทียบกับการรักษาในปัจจุบันที่ต้องฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย
รอยื่นเรื่องขออนุมัติใช้ฉุกเฉินกับ FDA
เมอร์คเปิดเผยว่าทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อ FDA เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
หากได้รับการอนุมัติจาก FDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐ โดยสหรัฐยังไม่ได้ให้การอนุมัติการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 เช่นกัน แม้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการรับรองจากบางประเทศแล้ว