รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ยาโควิดใหม่แพงมาก !! เม็ดละ 580 บาท คอร์สละ 23,100 บาท แพงกว่ายาเดิมถึง 14 เท่าตัว
นอกจากวัคซีนจะเป็นความหวังหนึ่งในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 (covid-19) แล้ว ความหวังอีกหนึ่งอย่างก็คือ การมียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ที่จะทำให้แม้ติดเชื้อแล้วมีอาการ ก็จะได้ไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำนองเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่ง และเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็ยังมียาฆ่าเชื้อไวรัสได้ ทำให้คนไม่ค่อยกลัวเรื่องไข้หวัดใหญ่กันมากนัก
สำหรับโควิด-19 วัคซีนที่ออกมาแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับมีคุณภาพปานกลางคือ
เมื่อพบไวรัสกลายพันธุ์ก็มีประสิทธิภาพลดลง และไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ทุกคน แต่ลดการเจ็บป่วยลงได้มาก
มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาที่ฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง อย่างน้อยสองบริษัท ได้แก่ บริษัท Merck และบริษัท Pfizer
ขณะนี้ ความคืบหน้ายาฆ่าเชื้อไวรัสของบริษัท Merck ได้ผ่านการทดลองในเฟสสอง ชื่อ Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ได้ผล ดีเป็นที่น่าพอใจ
โดยรายงานในกลุ่มอาสาสมัคร 775 คนพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับยาต้องเข้าโรงพยาบาล 7.3% กลุ่มที่ไม่ได้รับยาเข้าโรงพยาบาลมากกว่าถึง 2 เท่า คือ 14.1%
และในกลุ่มที่ไม่ได้รับยา มีการเสียชีวิตไป 8 ราย โดยที่กลุ่มได้รับยาไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
สหรัฐอเมริกา จึงได้สั่งจองยานี้ทันทีแล้ว จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส ส่วนไทยก็ได้สั่งจองไว้ 2 แสนคอร์ส
ประเด็นปัญหาใหญ่ นอกจากเรื่องต้องสั่งจองรวดเร็วแล้วก็คือ เรื่องราคายา
โดยพบว่ายาใหม่นี้กำหนดราคาขายเบื้องต้น หนึ่งคอร์ส 40 เม็ด ราคา 700 เหรียญสหรัฐ หรือ 23,100 บาท ตกเม็ดละ 580 บาท
โดยต้องทานวันละ 8 เม็ด เป็นจำนวน 5 วัน รวม 40 เม็ด
เมื่อเปรียบเทียบกับยาพื้นฐานเดิมที่ใช้รักษาโรคโควิดอยู่แล้ว แบบประทังไปก่อน คือ ฟาวิพิราเวีย (Favipiravir)
พบว่าเมื่อองค์การเภสัชกรรมของไทยเราผลิตเองได้ ราคายาได้ลดลงจากเม็ดละ 120 บาทเหลือ 40 บาท
แต่เมื่อเทียบราคาเม็ดต่อเม็ด ยาใหม่ของ Merck แพงกว่ายาเดิมคือฟาวิพิราเวียอยู่ถึง 14 เท่า คือ 580 บาท เทียบกับ 40 บาท
แต่ถ้าเทียบเป็นคอร์ส ยาใหม่ 23,100 บาท เทียบกับยาเดิม 2400 บาท แพงกว่ากันอยู่ 10 เท่า
จึงเป็นข่าวดี ที่วงการแพทย์ได้วิจัยพัฒนาจนเกือบสำเร็จ จะได้ยาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรงแล้ว
แต่ข่าวร้ายก็คือ ประเทศที่ยากจนก็จะเข้าถึงยาได้ยาก เพราะยาแพงกว่ายาเดิมที่ใช้อยู่ถึง 10-14 เท่าตัว
การพัฒนายาของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน หรือเป็นการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศในโลกที่สาม น่าจะเรียกร้องร่วมกัน โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลกต้องเป็นหลัก จัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ หรือขอซื้อยาจากบริษัทมาขายในราคาทุนให้กับประเทศยากจน
ทั้งนี้ ถ้าประเทศยากจนยังมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้โควิดไม่สามารถควบคุมการระบาดในโลกใบนี้ได้
เพราะ 200 ประเทศทั่วโลก ประชากร 7,000 ล้านคน ต่างเดินทางไปมาหาสู่กัน ไม่เหมือนสมัยก่อน
ประเทศร่ำรวย แม้มีวัคซีนดี มียาดีที่เพียงพอ ก็อาจจะประสบปัญหาจากโควิด ที่เข้ามาจากประเทศอื่นที่ยังควบคุมการระบาดได้ไม่ดี
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลของยา "โมลนูพิราเวียร์" พบว่า ล่าสุดคณะกรรมการที่ปรึกษาตัดสินให้ยุติการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัส Molnupiravir ทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคมแทนที่จะเป็นปลายปี เนื่องจากผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกมีประสิทธิภาพรักษาโรคโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
บริษัทเมอร์คกำลังยื่นขอการรับรองโมลนูพิราเวียร์จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ
เบื้องต้นบริษัทเมอร์คได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อส่งยาโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง