บริษัทชิโอโนกิ แอนด์ โค (Shionogi & Co. Ltd) ผู้ผลิตยาจากญี่ปุ่นเปิดเผยวันนี้ (8 ต.ค.) ว่า ยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่นั้นอาจทำยอดขายมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถใช้ในการรักษาร่วมกับ ยา “โมลนูพิราเวียร์” ของ บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาของสหรัฐอเมริกา ขณะที่เป้าหมายในการรักษาโรคโควิด-19 นั้นได้เปลี่ยนไปสู่การใช้ยาชนิดรับประทานในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงนัก
"หากใช้ราคายาของเมิร์คซึ่งอยู่ที่ราว 700 ดอลลาร์ต่อการรักษาผู้ป่วยหนึ่งคนเป็นเกณฑ์อ้างอิงในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นได้นั้น ผมคิดว่าเราจะสามารถจำหน่ายยาของเราได้ 1,000-2,000 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างต่ำในช่วงปีแรก ๆ" นายไอซาโอะ เทชิโรกิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทชิโอโนกิให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
นายเทชิโรกิระบุว่า บริษัทคาดว่าจะได้ข้อมูลการทดลองยาในขั้นสุดท้ายภายในเดือนธ.ค.นี้ ก่อนจะยื่นเพื่อขออนุมัติใช้งานในญี่ปุ่นต่อไป โดยบริษัทจะเริ่มดำเนินการผลิตยาในเดือนต.ค. และคาดว่าจะสามารถผลิตยาได้ 1 ล้านโดสภายในต้นปีหน้า (2565) ส่วนในปีถัดไปนั้น (2566) คาดว่าจะผลิตได้ 6-7 ล้านโดส
ทั้งนี้ ยาของบริษัทชิโอโนกิ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitor) และสามารถยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของไวรัสได้หลายส่วนมากกว่าตัวยาของเมิร์ค จึงเป็นไปได้ว่า ยาของทั้งสองบริษัทอาจใช้ร่วมกันได้ โดยขณะนี้ ชิโอโนกิและเมอร์คกำลังหารือถึงความเป็นไปได้ในประเด็นนี้อยู่ ซึ่งการใช้งานยาร่วมกันนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบก่อนทำการทดลองต่อไป
สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า บริษัท ชิโอโนกิ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโอซาก้าได้เริ่มการทดลองทางคลินิกการใช้ยาต้านไวรัสโควิดดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่ายาเม็ดที่ใช้ได้สะดวกง่ายดาย โดยผู้ป่วยที่มีอาการโควิด-19 เพียงเล็กน้อยสามารถซื้อยามารับประทานได้เองที่บ้านนั้น จะเป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่ต้องรองรับผู้ป่วยโควิดอย่างตึงมือในเวลานี้
ข่าวระบุว่า ยาของชิโอโนกิเหมาะสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และหากได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว ก็จะเป็นยารักษาโควิด-19 ที่ใช้บริโภคทางปากรายแรกที่ได้รับการอนุมัติในประเทศญี่ปุ่น