วันที่ 16 พ.ย. 64 นายไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน” ในการเปิดการอบรมสื่อมวลชน หลักสูตร “อเมริกายุคไบเดน: สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ รุ่นที่ 1” ณ VIE Hotel กรุงเทพ
ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย. 64
นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาที่นี่ในวันนี้ เพื่อกล่าวเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายสำคัญของนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย อันเป็นพันธมิตรสนธิสัญญาที่เก่าแก่และยาวนานที่สุดของเราในเอเชีย
นี่เป็นโอกาสพิเศษสำหรับสถานทูตสหรัฐฯ ของเรา นั่นคือ เป็นครั้งแรกที่เราได้มีโอกาสจัดโครงการร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการสนับสนุนการรายงานข่าวอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตย นักข่าวที่มีความรอบรู้ คิดวิเคราะห์ และรายงานข่าวอย่างเป็นกลาง จะช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสร้างเกราะปกป้องประชาชนจากข้อมูลเท็จ เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับสมาคมฯ อย่างใกล้ชิดต่อไปในอนาคต
ก่อนอื่น ผมขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างผมกับประเทศไทย ทั้งในด้านส่วนตัวและในการทำงาน ผมปฏิบัติภารกิจ ณ หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเทศไทยเป็นจำนวนสามครั้ง ซึ่งรวมถึงการเป็นกงสุลใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ และผมไม่ใช่คนเดียวที่มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยหลายครั้ง ยังมีเพื่อนพนักงานชาวอเมริกันอีกมากมายที่เลือกมาปฏิบัติภารกิจที่นี่หลายต่อหลายครั้ง
ไม่ใช่เพียงเพราะดินแดนแห่งรอยยิ้มนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา อาหารที่แสนอร่อย และพืชพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิดเท่านั้น แต่เรามาที่นี่เพราะเราอุทิศทุ่มเทในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทย ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนั้นมีมายาวนานจนกำลังจะล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่สามแล้ว ความสัมพันธ์นี้ครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน
ตั้งแต่สาธารณสุข การค้า การศึกษา ไปจนถึงความมั่นคง และความเป็นหุ้นส่วนเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ สถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในสถานทูตฯ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาปฏิบัติภารกิจระดับภูมิภาคที่นี่ ในฐานะที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ การมีหน่วยงานสหรัฐฯ หลายแห่งอยู่ที่นี่ยังแสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นและครอบคลุมภาคีทุกภาคส่วนของไทย
ใน 2-3 วัน ข้างหน้านี้ เราจะเจาะลึกกระบวนการการทำงานที่สถานทูตสหรัฐฯ เพื่อท่านจะทราบว่าเราดำเนินภารกิจต่าง ๆ อย่างไรและด้วยเหตุผลอะไร ท่านจะได้รับฟังบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน บุคลากรทางทหารผู้อุทิศทุ่มเท ศิษย์เก่าจากโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ช่วยไทยต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ
นอกจากนี้ ท่านยังจะได้ลองสัมผัสกับธรรมเนียมอเมริกัน และยิ่งไปกว่านั้นท่านจะได้ลองชิมอาหารสไตล์อเมริกันรสเลิศเนื่องในโอกาสวันขอบคุณพระเจ้ากับเจ้าหน้าที่อเมริกันอีกด้วย
ผมทราบว่าหัวข้อที่เลือกมาในวันนี้คือนโยบายการต่างประเทศใน “ยุคประธานาธิบดีไบเดน” และเหมือนเช่นในระบอบประชาธิปไตยใด ๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัยย่อมแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผมอยากเน้นย้ำว่านโยบายการต่างประเทศอเมริกันอยู่บนค่านิยมหลักที่อเมริกามีมายาวนานไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ เสรีภาพ โอกาส และประชาธิปไตย ซึ่งค่านิยมเหล่านี้จะยังคงเป็นแกนกลางของนโยบายการต่างประเทศของเราไม่ว่าผู้ใดจะได้รับการเลือกตั้งก็ตาม
ประธานาธิบดีไบเดนและรัฐมนตรีฯ บลิงเคนได้เน้นย้ำอย่างมากถึงการทูตและความร่วมมือของเราในเอเชีย ในฐานะชาติแปซิฟิก สหรัฐฯ ยึดมั่นต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เนื่องจากโครงสร้างที่เสรีและเปิดกว้างย่อมยังให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งประชาชนอเมริกันและประชาชนในประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดในภูมิภาคแปซิฟิก
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและหุ้นส่วนต่าง ๆ ดังเช่นประเทศไทย ประเทศของเราเชื่อว่าเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันจะช่วยให้เราทุกฝ่ายสามารถผสานพลังความเข้มแข็งเพื่อร่วมกันพัฒนาผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ในอินโด-แปซิฟิก ประโยชน์ที่มีร่วมกันเหล่านี้
ได้แก่ การคงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งรวมถึงการหาทางออกอย่างสันติให้กับข้อพิพาทต่าง ๆ การเคารพระเบียบที่ยึดมั่นในกฎกติการะหว่างประเทศ ตลอดจนเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่าน การรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญยิ่งยวด การเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่โปร่งใสและยั่งยืน และการสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน
ท่านพลเรือเอกอากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้กล่าวระหว่างการมาเยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดว่า สหรัฐฯ ยืดมั่นในการธำรงไว้ซึ่งสันติสุข ความเจริญมั่งคั่ง และเสถียรภาพของประเทศทั้งปวงในภูมิภาคนี้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำงานกันอย่างหนักเพื่อกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรและหุ้นส่วนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน อย่างเช่นไทยฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ เรายังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มพหุภาคีที่สร้างสรรค์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เช่น อาเซียน, ควอด, ออคัส, เอเปค และกลุ่มภาคีอื่น เพื่อแก้ปัญหาที่กังวลร่วมกัน
ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยโอกาสมากมายและกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญยิ่ง สถานการณ์วิกฤติในพม่าเป็นหนึ่งในข้อท้าทายที่สำคัญ ซึ่งอาเซียนกำลังดำเนินการเพื่อรับมือ ค่านิยมของเราเป็นตัวกำหนดแนวทางการจัดการเกี่ยวกับพม่า สหรัฐฯ สนับสนุนอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของอาเซียนที่ไม่เชิญผู้นำคณะรัฐบาลทหารของพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน และรับทราบการตัดสินใจของพม่าที่ไม่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุม
สหรัฐฯ จะยังคงทำงานร่วมกับภาคีอาเซียน ตลอดจนสมาชิกประชาคมนานาชาติอื่น ๆ เพื่อกดดันให้คณะรัฐบาลทหารพม่าหยุดความรุนแรง ปล่อยผู้ที่ถูกกักขังอย่างไม่เป็นธรรม ส่งเสริมความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหาย และนำผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่อความหายนะต่าง ๆ มารับผิดชอบ รวมทั้งฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคและการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของพม่า นอกจากนี้ เรายังเรียกร้องให้คณะรัฐบาลทหารพม่าเปิดให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
ในเรื่องสาธารณรัฐประชาชนจีน ผมขอให้ความมั่นใจว่าเป้าหมายของนโยบายการต่างประเทศของเราในเอเชียไม่ได้มุ่งเน้นที่ประเทศจีนแต่เพียงอย่างเดียว ดังที่ท่านรัฐมนตรีฯ บลิงเคนกล่าวไว้ แนวทางของสหรัฐฯ ต่อประเทศจีนจะมีทั้งมิติของการแข่งขันกัน การอยู่ตรงข้ามกัน และการร่วมมือกัน
สหรัฐฯ จะต่อต้านแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม คุ้มครองเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหว และคัดค้านการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เราจะยังคงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในประเด็นต่าง ๆ ที่เรามีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ การต่อต้านยาเสพติด และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ดังที่ท่านประธานาธิบดีไบเดนกล่าว เราไม่ได้มองหาความขัดแย้งระหว่างกัน แต่เราเปิดรับการแข่งขันระหว่างกัน
มีโอกาสอันดีเยี่ยมสามประการที่เราเห็นในภูมิภาคนี้ นั่นคือ ความพยายามของเราที่จะเอาชนะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกระตุ้นการดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค และการต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งความร่วมมือกับไทยถือเป็นแกนกลางของเป้าหมายทั้งสามประการนี้
การเอาชนะโควิด
สหรัฐฯ เป็นผู้นำการต่อสู้กับโควิด-19 ทั่วโลก และได้บริจาควัคซีนไปแล้ว 225 ล้านโดสแก่ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงวัคซีน 1.5 ล้านโดสที่บริจาคให้แก่ประเทศไทย (โดยจะมีอีกหนึ่งล้านโดสตามมาเร็ว ๆ นี้) เราได้ดำเนินการดังกล่าวเพราะเราทราบว่าจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย
ที่ประเทศไทยนี้ เราได้ช่วยเหลือด้านการบริจาควัคซีน mRNA ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล เครื่องตรวจหาเชื้อแบบ PCR ตู้เย็นจัดเก็บวัคซีน และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยให้วัคซีนไปถึงมือผู้รับโดยเร็วที่สุด พรุ่งนี้เช้า ท่านจะได้รับฟังเกี่ยวกับความร่วมมือที่ดีเยี่ยมระหว่าง นพ.ดรูว์ ไวส์แมน แห่งมหาวิทยาลัย University of Pennsylvania กับ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินการเพื่อช่วยประเทศไทยพัฒนาวัคซีน mRNA ภายในประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า ChulaCOV19
การกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในขณะที่ทุกชาติต่างพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศจากการชะงักชันที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของเราทั้งสองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ความสัมพันธ์ทางการค้าและธุรกิจของเราอยู่บนพื้นฐานที่มีมายาวนานหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษก็ว่าได้ ในการทำธุรกิจที่สร้างผลกำไรร่วมกัน ผ่านสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ เราค้าขาย เราลงทุน และเราทำธุรกิจร่วมกัน เพราะทั้งสองประเทศต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเพราะเรามีความความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความเจริญมั่งคั่งให้กับประเทศของเราต่อไป
หลังจากสองศตวรรษผ่านไป สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีการบริโภคสินค้าไทยมากกว่าประเทศใดในโลก เรารักสินค้าไทย และคนไทยก็รักสินค้าอเมริกันเช่นกัน ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แน่นแฟ้นนี้ได้ทวีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด
ทำไมหรือครับ ก็เพราะอันที่จริงแล้ว ประเทศไทยสามารถดูแลห่วงโซ่อุปทานให้ดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ทั้งในการรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาและการดำเนินการผลิตตามตารางเวลาที่กำหนด ซึ่งดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์หรือเซมิคอนดักเตอร์ ประเทศไทยก็สามารถรักษาระดับการผลิตไว้ได้ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกในยุคใหม่นี้เกิดภาวะชะงักงันจากโควิดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดังนั้น เมื่อเราพิจารณาเกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวและความสม่ำเสมอของระบบห่วงโซ่อุปทาน เราจึงต้องการถอดบทเรียนความสำเร็จของประเทศไทย และขยายความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้มั่นใจว่าการค้าขายทั้งขานำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าพื้นฐานที่จำเป็น จะยังคงไหลลื่นต่อเนื่อง และเราจะสามารถพึ่งพากันและกันต่อไปได้
เรามุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทยตลอดปี 2565 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพงานประชุมเอเปค เราทราบว่าคณะเจ้าหน้าที่ของไทยได้ทำงานอย่างหนักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับปีที่จะมาถึงนี้ และเรารอคอยที่จะได้ส่งเสริมงานอันสำคัญยิ่งของกลุ่มเอเปคกับฝ่ายไทย
ในเวทีเอเปค สหรัฐฯ ได้ทำงานมาอย่างยาวนานกับหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสร้างภูมิภาคที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของกลุ่ม โดยเอเปคเป็นผู้นำนวัตกรรมในการรับมือกับประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อตลาดในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ ประเทศหรือพื้นที่เศรษฐกิจเอเปคต่างก็มุ่งที่จะร่วมมือกันเพื่อทำให้เอเปคเป็นแบบอย่างขององค์กรที่มีลักษณะไม่ผูกพันประเทศสมาชิก ซึ่งสามารถขับเคลื่อนฉันทามติ ระดมความคิดเห็น และตั้งเป้าหมายเพื่อการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจได้
รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ ยินดีที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในระหว่างการเดินทางไปเยือนสิงคโปร์ หากสมาชิกเอเปคมีฉันทามติร่วมกันในข้อเสนอนี้ เราก็รู้สึกเป็นเกียรติที่จะรับบทบาทดังกล่าว โดยร่วมกับประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือสมาชิกเอเปคฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมอีกครั้งหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาด
เราได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพเพราะคำนึงถึงความสำคัญของเอเปคในฐานะเวทีสำคัญในการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เสรี ยุติธรรม และเปิดกว้าง และเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและเปิดกว้างต่อทุกกลุ่ม
การต่อสู้กับสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ผมอยากจะขอกล่าวถึงสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศและการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ผมขอแสดงความยินดีกับไทยที่ได้ประกาศยกระดับเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตินี้ร่วมกัน ผมขอแสดงความยินดีกับไทยที่เข้าร่วมกับสหรัฐฯ ในโครงการ Clean Energy Demand Initiative ซึ่งนำประเทศและบริษัทต่าง ๆ มาพัฒนาเป้าหมายพลังงานสะอาดด้วยกัน
ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศนี้ได้เพียงลำพัง ท่านประธานาธิบดีไบเดนได้กำหนดให้วาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นแกนกลางของนโยบายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกลับไปเป็นภาคีของความตกลงปารีสอีกครั้งนับตั้งแต่วันแรกที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่ง และมีการเรียกประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศในวันคุ้มครองโลกของปีนี้
นับตั้งแต่นั้นมา ท่านประธานาธิบดีไบเดนก็ได้ออกโครงการริเริ่มใหม่ ๆ และเรียกร้องให้นานาประเทศขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประกาศว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มตัวเลขความมุ่งมั่นเป็นสองเท่าในระดับที่ 11,400 ล้านเหรียญ ภายในปี 2567 เพื่อช่วยเหลือประเทศในกลุ่มเปราะบางให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
ในการประชุม Indo-Pacific Business Forum เมื่อไม่นานนี้ ผมได้กล่าวย้ำถึงหนทางหลายประการที่ประเทศของเราทั้งสองจะสามารถทำงานร่วมกัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโลกที่สะอาดกว่าเดิม ผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สถานทูตฯ ของเราทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นที่การปรับตัวต่อและการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา ตลาดพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังสร้างงานที่ให้ผลตอบแทนสูงหลายล้านตำแหน่งสำหรับกลุ่มคนวัยทำงาน และเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้สร้างสรรค์นวัตกรรมและเติบโตต่อไป สหรัฐฯ รับทราบถึงบทบาทของไทยในฐานะผู้นำในเรื่องเหล่านี้และพร้อมยืนหยัดเคียงข้างเพื่อช่วยภาครัฐและเอกชนของไทยในการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น
เรากำลังทำงานกับไทยเพื่อนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของไทย
วิศวกรสหรัฐฯ กำลังช่วยบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในการเปลี่ยนพาหนะจำนวน 14,500 คันของบริษัทมาเป็นระบบไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญของเรากำลังช่วยไทยกำหนดอัตราค่าชาร์จไฟฟ้าและพัฒนาแผนความพร้อมด้านยานยนต์ไฟฟ้า
ผมได้เห็นรถ Tesla หลายคันบนท้องถนนในกรุงเทพฯ แล้ว และอีกไม่นานเราก็จะได้เห็นเพิ่มขึ้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของหลาย ๆ โครงการที่ท่านจะได้รับฟังในการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจของเราในช่วงต่อไปของงานสัมมนานี้
อนึ่ง ผมขอเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สหรัฐฯ สนับสนุนประเทศไทยในฐานะผู้นำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (MUSP) ลุ่มน้ำโขงเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตของภูมิภาค ประชาชนหลายล้านคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยลุ่มน้ำโขงในด้านน้ำ อาหาร พลังงาน และการคมนาคมขนส่ง
ภายใต้กรอบหุ้นส่วนฯ นี้ สหรัฐฯ ร่วมมือกับไทยและประเทศภาคีอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเสมอภาค รวมถึงการนำข้อพิจารณาทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล มาประกอบการวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ดังที่กล่าวแล้ว ผมรู้สึกยินดีที่ท่านจะได้มีโอกาสใช้เวลาในช่วงสองสามวันนี้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีสหรัฐฯ และไทยในแต่ละวันและทุก ๆ วัน เพื่อสานต่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ