“ไฟเซอร์ อิงค์” บริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตวัคซีนและยาต้านโควิด-19 เปิดเผยวานนี้ (18 พ.ย.) ว่า รัฐบาลสหรัฐ ได้ลงนามใน ข้อตกลงซื้อยาแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็น ยารักษาโรคโควิด-19 จำนวน 10 ล้านคอร์ส วงเงิน 5,290 ล้านดอลลาร์ สำหรับการส่งมอบภายในปี 2565
ไฟเซอร์ระบุว่า หากยาแพกซ์โลวิดได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ทางบริษัทก็จะเริ่มส่งมอบยาดังกล่าวในปีนี้ และจะส่งมอบครบจำนวนในปีหน้า (2565)
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์
เปรียบเทียบราคา และวิธีการกินยา
ข่าวระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบราคายาแพกซ์โลวิดและยาโมลนูพิราเวียร์ พบว่า ราคายาต่อ 1 คอร์สของแพกซ์โลวิดมีราคาถูกกว่าโมลนูพิราเวียร์ โดยรัฐบาลสหรัฐซื้อยาแพกซ์โลวิดจากไฟเซอร์เฉลี่ยราคาคอร์สละ 529 ดอลลาร์ หรือราว 17,000 บาท ขณะที่ซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คเฉลี่ยราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือมากกว่า 23,000 บาท
ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
ส่วนผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะให้การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ในช่วงต้นเดือนธ.ค. และให้การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดหลังจากนั้น