ผลสำรวจประจำปี 2564 ของฟอร์เรสเตอร์บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี จำนวน 63% ใช้งาน ติ๊กต็อก ในรายสัปดาห์ เมื่อเทียบกับจำนวน 57% ที่ใช้ อินสตาแกรม โดยผลสำรวจล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ติ๊กต็อกผงาดขึ้นแซงหน้าแล้ว หลังจากที่อินสตาแกรมขึ้นแท่นแอปพลิเคชันที่เด็ก ๆ ชาวอเมริกันใช้งานมากถึง 61% ในปี 2563 ขณะที่ 50% ใช้ติ๊กต็อกในปีดังกล่าว
เมื่อเร็ว ๆนี้ อินสตาแกรมซึ่งเป็นบริษัทลูกของเฟซบุ๊ก (ซึ่งปัจจุบัน เฟซบุ๊กเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เมทา) ได้รับผลกระทบจากการที่นางฟรานเซส ฮอเกน อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของเฟซบุ๊กต่อสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐว่า เฟซบุ๊กมุ่งสร้างกำไรมากกว่าที่จะสนใจความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมักจะแสดงโพสต์ที่มียอดการกดไลก์กดแชร์สูง ซึ่งในบางกรณีก็เป็นโพสต์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งาน
ทางด้านเฟซบุ๊กได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นเมทา (Meta) เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนถึงจุดมุ่งหมายใหม่ของบริษัทที่จะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นด้านโซเชียลมีเดีย ไปเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเมทาเวิร์ส (Metaverse) อย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ดี ติ๊กต็อกไม่ได้เป็นแอปโซเชียลมีเดียยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนกลุ่ม Gen Z (อายุ 9-24 ปี) ของสหรัฐอเมริกา โดยผลสำรวจของฟอร์เรสเตอร์ระบุว่า ในแต่ละสัปดาห์ วัยรุ่นชาวอเมริกันนิยมใช้ ยูทูบ (YouTube) มากที่สุด คือราว 72% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 69% ของปี 2563 ขณะที่ 54% ของ Gen Z ใช้สแนปแชท (Snapchat) รายสัปดาห์ในปีนี้ ซึ่งทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2563