ส่องไทม์ไลน์ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน

22 พ.ย. 2564 | 00:07 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 07:30 น.

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนกำลังจะมีขึ้นในวันนี้ (22 พ.ย.) เรามาไล่เลียงไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอาเซียน-จีนไปด้วยกันว่า กว่าจะถึงวันนี้ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นเช่นไร

22 พ.ย. 2564 เนื่องใน วาระครบรอบ 30 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและอาเซียนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน มีหมายกำหนดการร่วม การประชุมสุดยอดวาระพิเศษ กับ ผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นครั้งแรก ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Piti Srisangnam ลำดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน ที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ นับเป็นการอุ่นเครื่อง เตรียมความพร้อมให้ท่านผู้อ่านก่อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นในวันนี้

 

เตรียมความพร้อมสู่ การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน วาระ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน (22/11/2021)

 

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ ผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ขึ้นสู่อำนาจหลังการเสียชีวิตของประธานเหมา ในปี 1976 เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นการปูทางไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน โดยการเดินทางเยือนประเทศไทย และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียน เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของประเทศต่างๆ หลังจากที่จีนปิดประเทศไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรมในปี 1966 และเมื่อจีนเริ่มต้นเปิดประเทศอีกครั้งอย่างเป็นทางการในปี 1991 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในขณะนั้น Qian Qichen ก็เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการทรวงการต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 24 ที่ประเทศมาเลเซีย

และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างอาเซียน-จีนในปี 1991 ทำให้ปีนี้ (2021) เป็นวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ โดย Timeline ความสัมพันธ์อาเซียนจีนมีดังนี้

.

1996 จีนมีสถานะ Full Dialogue Partner ของอาเซียน ในการประชุม ASEAN Ministerial Meeting (AMM) ครั้งที่ 24 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

.

1997 เพียงชั่วข้ามคืนหลังจาก เกาะฮ่องกง กลับสู่อ้อมอกจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ประเทศไทยก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 เริ่มต้นสู่สถานการณ์วิกฤตการเงินเอเชีย (1997 Asian Financial Crisis) หรือที่คนไทยเรียกว่า วิกฤตต้มยำกุ้งอย่างเป็นทางการ และในช่วงปลายปี การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีนอย่างไม่เป็นทางการก็เกิดขึ้น ตามมาด้วยความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนสู่อาเซียน ทั้งในรูปแบบทวิภาคี แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน, รูปแบบอาเซียน-จีน หรือ อาเซียน+1 และความช่วยเหลือผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมมูลค่าเงินที่จีนช่วยเหลืออาเซียนในวิกฤตครั้งสำคัญนี้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

ปี 2000-2001 อาเซียน-จีน เริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ASEAN-China FTA (ACFTA) ซึ่งถือเป็น FTA ฉบับแรกของอาเซียน และใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็นำไปสู่การสรุปการเจรจา และการลงนามทำให้เริ่มต้นมีการลดภาษีศุลกากรและยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันในปี 2002

.

ACFTA เริ่มต้นการลดภาษีอย่างเป็นทางการครบทั้ง 11 ประเทศในปี 2010 และมีผลสมบูรณ์ในปี 2015 ทำให้เมื่อปีที่แล้ว (2020) เป็นการเฉลิมฉลองวาระ 10 ปี AFTA

.

2003 จีนลงนามใน Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia (TAC) และยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนเป็น หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “strategic partnership for peace and prosperity”

.

2004 จีนวางตำแหน่ง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วง – กวางสี ให้เป็นปากประตูสู่อาเซียน เด็กนักเรียนในมณฑลนี้สามารถเลือกเรียนภาษาอาเซียนเป็นภาษาต่างประเทศในโรงเรียนได้ และเริ่มต้นการจัดงาน ASEAN-China EXPO (CAEXPO) ขึ้น ณ นครหนานหนิง และจัดต่อเนื่องมาทุกปี

.

2007 เริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจรายสาขา ASEAN-China on Agricultural Cooperation, ASEAN-China Cooperation in ICT, ASEAN-China MOU on Transport Cooperation

.

2008 หลังจากที่ กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เริ่มมีผลบังคับใช้ทำให้อาเซียนมีตัวตนทางกฎหมาย (Legal Entity) จีนคือประเทศแรกที่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำอาเซียน

.

2011 จีนเป็นชาติแรกที่เริ่มต้นก่อตั้ง ASEAN-China Centre

.

2012 จีนตั้ง Permanent Mission of China to ASEAN (คล้ายๆ สถานเอกอัครราชทูตจีน) ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

.

2013 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนอินโดนีเซีย และประกาศ  the Closer ASEAN-China Community with a Shared Future  และเปิดตัว Maritime Silk Road of the 21st century

.

2019 ปรับปรุงความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้ Master Plan on ASEAN Connectivity (2016-2025) ให้สอดคล้องกับ China’s Belt and Road Initiative (BRI) ASEAN-China Joint Statement on Synergising the MPAC 2025 and the BRI.

.

ปัจจุบัน จีนคือ คู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของอาเซียน