หวั่นวิกฤตค่าเงินตุรกีลามยุโรป ค่าเงินลีราไหลไม่หยุดฉุดหุ้นแบงก์ร่วง

24 พ.ย. 2564 | 22:44 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2564 | 06:25 น.

ค่าเงินลีราของตุรกีดิ่งลงต่อเนื่องกว่าสิบวัน แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันอังคาร (23 พ.ย.) หลังปธน.เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ประกาศหนุนนโยบายดอกเบี้ยต่ำแม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งเกือบ 20% หุ้นแบงก์ในยุโรปร่วงระนาว ผวาวิกฤตค่าเงินตุรกีลุกลาม

ค่าเงินลีรา (Lira) ของ ตุรกี ลดลงติดต่อกัน 11 วันทำการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23 พ.ย.) หลังจากที่ ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ได้ออกมาหนุน นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และปกป้องการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของรัฐบาล แม้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งขึ้นเกือบ 20% แล้วก็ตาม

 

นอกจากนี้ ลีรายังถูกกดดันซ้ำเติมจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้ดีดตัวขึ้นขานรับการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนตัดสินใจเสนอชื่อนายเจอโรม พาวเวลล์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นสมัยที่ 2

 

ข่าวระบุว่า ค่าเงินลีราดิ่งลง 11% สู่ระดับ 13.45 เทียบดอลลาร์ในวันพุธ (24 พ.ย.) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์  ทั้งนี้ สกุลเงินลีราของตุรกีทรุดตัวลง 40% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเป็นสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุด ท่ามกลางแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติที่ไม่มั่นใจต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง หลังจากที่ปธน.เออร์โดกันได้สั่งปลดผู้ว่าการธนาคารกลางหลายคนก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่สนองนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของรัฐบาล และหลังจากนั้นมา ธนาคารกลางตุรกีก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง

ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี

ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ไม่สนค่าเงินทรุด-เงินเฟ้อพุ่ง

ปธน.เออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีจำเป็นต้องมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการส่งออก การลงทุน และการจ้างงาน แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกือบ 20% และค่าเงินลีราดิ่งลงก็ตาม

 

ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อในตุรกีพุ่งขึ้นแตะระดับ 19.89% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี และสูงกว่าระดับเป้าหมาย 5% ที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ถึง 4 เท่า

 

สถานการณ์ในตุรกีทำให้หุ้นธนาคารในยุโรปพากันร่วงระนาวเมื่อต้นสัปดาห์เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่า วิกฤตค่าเงินตุรกีอาจลุกลามประเทศอื่นๆในยุโรป โดยเมื่อวันพุธ (24 พ.ย.) ราคาหุ้น BBVA ซึ่งเป็นธนาคารสเปน ดิ่งลง 1.2% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนมองว่า BBVA เป็นธนาคารที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตการเงินในตุรกี

 

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่า BNP Paribas ซึ่งเป็นธนาคารฝรั่งเศส และ ING Groep ซึ่งเป็นธนาคารเนเธอร์แลนด์ จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากมีการดำเนินธุรกิจในตุรกี ขณะที่ UniCredit ซึ่งเป็นธนาคารอิตาลี ข่าวระบุว่ากำลังเตรียมถอนการลงทุนออกจากตุรกี

ข้อมูลจาก ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ธนาคารสเปนได้ปล่อยสินเชื่อในตุรกีมากที่สุดในบรรดาธนาคารของยุโรป โดยคิดเป็นวงเงินเกือบ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยธนาคารฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐ ญี่ปุ่น และอิตาลี

 

ประเทศอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงตามรอยตุรกี

นายมาร์ค โมเบียส ผู้จัดการกองทุนตลาดเกิดใหม่ และผู้ก่อตั้งบริษัทโมเบียส แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส ให้ความเห็นว่า ตุรกีอาจไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ค่าเงิน เมื่อพิจารณาจากโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้นในสหรัฐอเมริกา

 

นายโมเบียสกล่าวในรายการ "Closing Bell" ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ประเทศอื่น ๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะเผชิญสถานการณ์เดียวกันกับตุรกี ซึ่งขณะนี้ค่าเงินลีราร่วงลงอย่างหนัก โดยเขาระบุว่า ทุกประเทศที่มีหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์จะได้รับผลกระทบเมื่อสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองที่มีต่อตุรกีนั้น นายโมเบียสมองว่า ค่าเงินที่อ่อนลงจะเป็นผลดีกับภาคการส่งออก "บริษัทต่าง ๆ ที่เราเป็นเจ้าของในตุรกีมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือยูโร ซึ่งจะทำเงินได้มากขึ้นเมื่อสกุลเงินลีราอ่อนค่าลงเพราะต้นทุนของบริษัทเหล่านี้ต่ำลงมาก"

 

ข้อมูลอ้างอิง