นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาวานนี้ (30 พ.ย.) ว่า เฟดอาจปรับลดวงเงินใน โครงการซื้อพันธบัตร ตาม มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันเรื่องนี้ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 14-15 ธ.ค.
สาเหตุเนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้น นายพาวเวลล์ระบุว่า ถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่เฟดจะพิจารณายุติโครงการซื้อพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเดือน โดยจะมีการหารือกันในการประชุมครั้งต่อไปกลางเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา และเฟดจะปรับลดวงเงิน QE เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. โดยเฟดจะปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 10,000 ล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 5,000 ล้านดอลลาร์
การลดวงเงิน QE ตามแผนดังกล่าวจะทำให้เฟดยุติการทำ QE โดยสิ้นเชิงในช่วงกลางปี 2565
ก่อนหน้านี้ เฟดได้ทำ QE เดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์ (อ่านเพิ่มเติม: คำต่อคำแถลงการณ์ ประชุม"เฟด"เดือนพ.ย.64)
ทั้งนี้ นายพาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ มีกำหนดกล่าวแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย ก่อนที่จะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (1 ธ.ค.)
ทั้งนายพาวเวลล์และนางเยลเลนมีกำหนดเข้ารายงานต่อสภาคองเกรสในทุกไตรมาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งบังคับใช้ในเดือนมี.ค.2563 โดยรายงานดังกล่าวครอบคลุมถึงโครงการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินของเฟดด้วย
นายพาวเวลล์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 5% ในปีนี้ (2564) แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้สร้างความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะกระทบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้
"เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์สถานการณ์เงินเฟ้อและผลกระทบด้านอุปทานว่าจะยืดเยื้อเพียงใด แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ก็คือเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นไปจนถึงปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดแรงงานที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และค่าแรงที่สูงขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเช่นกัน"
ประธานเฟดยังกล่าวด้วยว่า ความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่เพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน จะทำให้ประชาชนไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดแรงงานชะลอตัวลง และเพิ่มปัญหาชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน
ถ้อยแถลงของพาวเวลล์ระบุว่า ภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานซึ่งมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลมาจากราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในบางรายการ โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ดีดตัวขึ้น 5% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี